การศึกษาวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ดังนี้ ๑) เพื่อศึกษาพุทธศิลป์ที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏอยู่ในพุทธศิลป์จังหวัดขอนแก่น และ ๓) เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของพุทธศิลป์ที่มีผลต่อชุมชนในจังหวัดขอนแก่น ผลการวิจัยพบว่า: พุทธศิลป์ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ปรากฏวิหาร เรือนมุงแถบเดียว เรือนชั้น เรือนโล้น ซึ่งหมดนี้ได้มีพัฒนาการจากวิหารเสนาสนะอันที่อยู่พระพุทธเจ้าและพระสาวก และถ้ำที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต ต่อมาปรากฏบทบัญญัติเกี่ยวกับพุทธศิลป์ประเภทสถาปัตยกรรม และจิตรกรรมฝาผนัง ตลอดถึงรูปแบบ ลักษณะ และวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏอยู่ในพุทธศิลป์ คือ สิมเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน เพราะสร้างขึ้นด้วยเลื่อมใสศรัทธาและความสามัคคีของคนในชุมชนจึงเป็นสถานที่เคารพสักการะของชาวบ้าน รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับการศึกษาที่สามารถก่อให้เกิดปัญญาแก่ชุมชน นอกจากนั้น สิมสะท้อนให้เห็นถึงหลักโลกธรรม ๘ ที่มีอยู่คู่กับโลกได้เป็นอย่างดี วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของพุทธศิลป์ที่มีต่อชุมชนในจังหวัดขอนแก่นมีความสัมพันธ์ของพุทธศิลป์ที่มีต่อชุมชนหลายด้าน เช่น ด้านการดำรงชีวิต ด้านเศรษฐกิจ ด้านชุมชน/สังคมด้านวัฒนธรรมประเพณี และด้านความเชื่อ จึงถือเป็นแหล่งโบราณสถานและแหล่งเรียนรู้ที่ทรงคุณค่า ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจของคนในชุมชน อีกทั้งเป็นศูนย์รวมและเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชน นอกจากนั้น ยังปรากฏการร่วมกันอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นในชุมชนของตน ฮูปแต้มภายในสิมนั้นสะท้อนถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านในอดีตและแฝงไปด้วยคติธรรมคำสอน เพื่อให้ชาวบ้านได้ยึดถือประพฤติปฏิบัติตามและปรับประยุกต์ใช้ในชีวิตของตน
Download