การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ ๑) เพื่อศึกษากำเนิดและพัฒนาการวัฒนธรรมใบเสมาหินในพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาวิถีชีวิตชุมชนชาวพุทธในจังหวัดชัยภูมิ ๓) เพื่อศึกษาวัฒนธรรมสัมพันธ์ระหว่างใบเสมาหินกับวิถีชีวิตชุมชนชาวพุทธในจังหวัดชัยภูมิ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากการสังเกตอย่างมีส่วนร่วมและสัมภาษณ์เชิงลึกแบบมีโครงสร้างจากประชากรกลุ่มเป้าหมายของพื้นที่ใช้ในการศึกษา และนำเสนอผลการศึกษาค้นคว้าในแบบพรรณนาเชิงวิเคราะห์
ผลการวิจัยพบว่า : ใบเสมาหินสร้างขึ้นจากบทบัญญัติทางพระพุทธศาสนาในพระวินัยเรื่องของการนำแผ่นหินเป็นนิมิต ได้รับอิทธิพลรูปทรงจากศิลปะในสมัยปาละ – เสนะของอินเดีย ผสมผสานกับแนวคิดการปักแท่งหินสลักรูปเสาเสมาธรรมจักรในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช โดยนำเรื่องราวทางพระพุทธศาสนามาสร้างสรรค์และนำเสนอเป็นภาพแกะสลักบุคคลผสมผสานกับการคิดค้นลวดลายต่าง ๆ พัฒนารูปทรงใบเสมาหินจนเป็นเอกลักษณ์ เริ่มต้นขึ้นในอาณาจักรทวาราวดี สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์เรื่อยมา มีการผสมผสานปรับปรุงกันเรื่อยมาทั้งในวัฒนธรรมมอญและวัฒนธรรมขอม กลายเป็นหลักฐานที่บันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม การแต่งกาย ภาษา วรรณกรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และอารยธรรมทางพระพุทธศาสนาเถรวาทของชุมชน
วิถีชีวิตของชาวชัยภูมิ เป็นชุมชนเกษตรกรรมและการล่าสัตว์ ดำรงชีวิตอยู่อย่างสงบสุข เรียบง่าย คนในชุมชนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาและมีความเชื่อเรื่องผี มีวัฒนธรรมที่การผสมผสานกับหลักปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาที่มาพร้อมกับวัฒนธรรมอินเดีย วัฒนธรรมทวารวดีภาคกลาง วัฒนธรรมขอมพระนคร และวัฒนธรรมลาวรวมเข้ากับประเพณีพิธีกรรมดั้งเดิมของท้องถิ่นทำให้เกิดพิธีกรรมและประเพณีต่าง ๆ คือ การรำผีฟ้า การแห่นาค บุญกระธูป พิธีสรงน้ำพระธาตุ สรงน้ำใบเสมาหิน พิธีแห่น้ำกาบแก้วบัวไขมาลัยกิ่งมิ่งเมืองกาหลง โฮมบุญฮดสรงองค์พระศรีศิลาแลง(พระใหญ่ทวารวดี) รวมถึงงานฉลองอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล บุญเดือนหกหนองปลาเฒ่า ซึ่งในปัจจุบันก็ยังยึดถือปฏิบัติกันทุกปี
ความสัมพันธ์ระหว่างวิถีชีวิตชุมชนกับใบเสมาหินในจังหวัดชัยภูมิ มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนา ความเชื่อ ความศรัทธา ศิลปกรรม ประเพณี พิธีกรรม ภาษา ตัวอักษร วรรณกรรม และการแต่งกาย เป็นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดในระดับของเครือญาติและมีอิทธิพลระหว่างกัน ทำให้ประชาชนในชุมชนปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ได้จากการค้นคว้าองค์ความรู้จากใบเสมาหินเพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตภายใต้ความเชื่อในวัฒนธรรมอย่างเดียวกัน
คำสำคัญ วัฒนธรรมสัมพันธ์, ใบเสมาหิน, วิถีชีวิตชุมชน, จังหวัดชัยภูมิ
Download
|