การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาความเป็นมาประเพณีพิธีกรรมการสู่ขวัญแต่งงานในสังคมไทย ๒) เพื่อศึกษาคติธรรมจากพิธีกรรมในคำสู่ขวัญแต่งงานชาวจังหวัดชัยภูมิ ๓) เพื่อนำเสนอคุณค่าทางจริยธรรมจากคติธรรมในคำสู่ขวัญแต่งงานชาวจังหวัดชัยภูมิ การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แบบสัมภาษณ์เชิงลึก กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย พระภิกษุ ๓ รูป นักวิชาการด้านวัฒนธรรมประเพณี ๕ ท่าน หมอสู่ขวัญ ๑๐ ท่าน และ ประชาชนทั่วไป มุ่งเน้นคู่แต่งงานที่ใช้ชีวิตมายาวนาน ๗ คู่ รวม ๒๕ รูป/คน ผลการวิจัยพบว่า
ประเพณีพิธีกรรมการสู่ขวัญแต่งงานของสังคมไทยชาวภาคอีสานและจังหวัดชัยภูมิมีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ การสู่ขวัญบายศรี เป็นการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามหลักความเชื่อศาสนาพราหมณ์ ที่เผยแผ่เข้ามามีอิทธิพลในสังคมไทยและชาวอีสาน ทำให้การแต่งงานของชาวอีสานจึงต้องมีการบายศรี ซึ่งเป็นการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธ์ การกล่าวคำสู่ขวัญจึงเป็นกล่าวคำบูชาวิงวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธ์ที่เคารพนับถือ ให้มาเป็นสักขีพยาน ปกปักรักษาคู่บ่าวสาวให้อยู่ดีมีสุขเจริญรุ่งเรือง มีขวัญกำลังใจมีความเชื่อมั่นในการก้าวสู่ภาวะ การดำรงชีวิตคู่ต่อไปและเป็นสิริมงคลต่อเจ้าบ่าว เจ้าสาวเองและญาติพี่น้องผู้ใกล้ชิด
ในคำสู่ขวัญเป็นท่วงทำนองภาษาท้องถิ่นอีสาน จากการประพันธ์ขึ้นของนักปราชญ์ที่มีความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในเรื่องของภาษาและวรรณกรรม ได้สอดแทรกคติธรรมคำสอน ในลักษณะกลอนสัมผัสให้จดจำได้ง่ายเป็นข้อคิด เป็นปรัชญาในการดำเนินชีวิตการครองเรือน เป็นจริยธรรมแนวทางปฏิบัติตนของคู่บ่าวสาว ซึ่งก่อให้เกิดคุณค่าทางด้านจริยธรรมจากคติธรรมคำสอนนั้น ประกอบด้วยคุณค่าทางด้านจริยธรรมการปฏิบัติตนระหว่างสามีต่อภรรยา,คุณค่าทางด้านจริยธรรม การปฏิบัติตนระหว่างภรรยาต่อสามี, คุณค่าทางด้านจริยธรรมการปฏิบัติตนของสามีภรรยาในการใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน, คุณค่าทางด้านจริยธรรมการปฏิบัติตนระหว่างลูกเขยต่อพ่อแม่ภรรยา,คุณค่าทางด้านจริยธรรมการปฏิบัติตนระหว่างสะใภ้ต่อพ่อแม่สามี, คุณค่าทางด้านจริยธรรมการปฏิบัติตนระหว่างสามีภรรยาต่อญาติพี่น้องวงศ์ตระกูลของแต่ละฝ่าย,และคุณค่าทางด้านจริยธรรมการปฏิบัติตนระหว่างสามีภรรยาต่อชุมชนสังคม นอกจากนี้การประกอบพิธีสู่ขวัญแต่งงาน ก่อให้เกิดคุณค่าจริยธรรมอันดีงามของสังคม ในด้านของการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีพิธีกรรมท้องถิ่นอันดีงามที่มงคลนี้ ที่ปฏิบัติการมาจากบรรพบุรุษให้คงอยู่สืบต่อไป ซึ่งนับวันจะมองไม่เห็นคุณค่า จากการรับเอาวัฒนธรรมประเพณีจากสังคมไทยทั่วไปและโลกตะวันตก มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของชาวอีสานและชาวชัยภูมิมากขึ้น
Download |