ดุษฎีนิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาพัฒนาการของวัดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงพุทธ ๒) เพื่อศึกษาการจัดการท่องเที่ยวเชิงพุทธของวัดในจังหวัดขอนแก่น 3) เพื่อศึกษาวิเคราะห์การจัดการวัดในจังหวัดขอนแก่นให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงพุทธ การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ การสังเกตและการสัมภาษณ์เชิงลึก แล้วนำเสนอผลการวิจัยด้วยการพรรณนาวิเคราะห์
ผลการวิจัยพบว่า ในสมัยพุทธกาลมีการสร้างและส่งเสริมวัดให้เป็นสถานที่มีความสะดวกสบาย ๓ ประการ คือ (๑) สถานที่อยู่ที่เหมาะสม (๒) บุคลากรที่มีความรู้และความประพฤติดี (๓) เป็นสถานที่เหมาะแก่การศึกษาและปฏิบัติธรรม
การจัดการท่องเที่ยวเชิงพุทธของวัดเจติยภูมิและวัดหนองแวงพระอารามหลวง มีลักษณะสอดคล้องกับวัดในสมัยพุทธกาล กล่าวคือวัดทั้งสองแห่งมีการจัดการสิ่งแวดล้อมให้มีความสงบ ร่มรื่น สะอาด บุคคลากรทั้งสองของวัดเป็นผู้ที่มีความรู้คู่คุณธรรม และเป็นสถานที่ที่เหมาะแก่การศึกษาและปฏิบัติธรรม ส่วนการจัดการวัดในจังหวัดขอนแก่นให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงพุทธ เน้นการส่งเสริมสร้างจิตสำนึกสาธารณะและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมของพุทธศาสนิกชน โดยการจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมที่ส่งเสริมการให้ทาน การรักษาศีล และการเจริญภาวนา
Download |