การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ (๑ เพื่อศึกษาสภาพปัญหาความเชื่อเรื่องการเกิดใหม่ในสังคมไทย (๒) เพื่อศึกษาคำสอนเรื่องการเกิดใหม่ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท (๓) เพื่อสังเคราะห์องค์ความรู้เรื่องการเกิดใหม่ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทและหลักฐานที่ค้นพบในปัจจุบัน
ผลการวิจัยพบว่า ความเชื่อเรื่องการเกิดใหม่ในสังคมไทยมีความหลากหลายและแตกต่างตามความรู้ ประสบการณ์ ความเชื่อ วิถีชีวิต และสถานภาพทางสังคม ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อเรื่องการเกิดใหม่แบบผิดๆ (มิจฉาทิฏฐิ) ความเชื่อเรื่องการเกิดใหม่ที่ขาดสัมมาทิฏฐิ ซึ่งส่งผลให้เกิดพฤติกรรม ที่ไม่พึงประสงค์และเสียสมดุลย์ในการดำเนินชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความเข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริง
หลักคำสอนเรื่องการเกิดใหม่ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทเกื้อหนุนให้เกิดความเชื่อที่ถูกต้องที่เรียกว่า “สัมมาทิฏฐิ” ซึ่งจะนำไปสู่ชีวิตที่ประเสริฐและสังคมที่สงบ โดยมีหลักพุทธรรมที่เกี่ยวข้องและเป็นหลักพื้นฐานในกระบวนการเกิดใหม่ของสัตว์ จำนวน ๔ ชุด คือ (๑) กฎไตรลักษณ์ (๒) กฎแห่งกรรม (๓) หลักปฏิจมุปบาท และ (๔) อริยสัจ ๔ ซึ่งเมื่อรวมถึงหลักคำสอนในพระสูตรต่าง ๆ เช่น ปายาสิราชัญญสูตร, คัมภีร์ชาดก, คัมภีร์อปทาน, คัมภีร์พุทธวงศ์,คัมภีร์จริยาปิฎก เป็นต้น หลักธรรมเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายในการสร้างสัมมาทิฏฐิและนำทางไปสู่พระนิพพานและเป็นเครื่องสนับสนุนหลักคำสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักฐานในพระไตรปิฎกที่แสดงว่า เมื่อชีวิตของสัตว์ตายแล้วจะต้องมีการเกิดใหม่โดยมีเงื่อนไขว่า หากสัตว์นั้นยังมีกิเลส ตัณหา และอวิชชา แต่หากสัตว์นั้นกำจัดอวิชชา ตัณหา อุปาทานให้สิ้นไปแล้ว เรียกว่า บรรลุพระนิพพาน สัตว์นั้นเมื่อตายแล้วก็จะไม่เกิดใหม่อีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม มีพยานหลักฐานที่ค้นพบในปัจจุบันอันเป็นการยืนยันหลักคำสอนเรื่องการเกิดใหม่ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทหลายประการ ได้แก่ การศึกษาเรื่องการสะกดจิตย้อนภพเพื่อการบำบัดทางจิต การศึกษาเรื่องการระลึกชาติได้ของบุคคล การศึกษาเรื่องการตายแล้วฟื้น กรณีที่วิญญาณปรากฏตัว การศึกษาเรื่องวิญญาณเข้าสิง การศึกษาเรื่องการเข้าสมาธิไปติดต่อกับโอปปาติกะ และการศึกษาเรื่องกายทิพย์ การศึกษากรณีเด็กอัจฉริยะ การศึกษาทางคติชนวิทยาและมานุษยวิทยา และการศึกษาโดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์บันทึกไว้
Download |