วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาหลักการ แนวคิด และ ทฤษฏี เกี่ยวกับจิตสำนึกสาธารณะ (๒) เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมที่ใช้ในการพัฒนาจิตสำนึกสาธารณะของมนุษย์ และ (๓) เพื่อศึกษาการพัฒนาจิตสำนึกสาธารณะของมนุษย์ตามหลักพุทธธรรม
งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ โดยรวบรวมข้อมูลจากเอกสารที่สำคัญ คือ คัมภีร์พระไตรปิฎก ฉบับภาษาไทย ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๓๙ เอกสารทางวิชาการ และงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน แล้วจึงสรุปผลการวิจัยและนำเสนอในเชิงพรรณนา
ผลจากการวิจัยพบว่า
จิตสำนึกสาธารณะ หมายถึง จิตสำนึกแห่งการตระหนักรู้และการปฏิบัติที่สร้างสรรค์ เป็นกุศล ปราศจากอคติ มุ่งทำความดี สร้างเสริมประโยชน์แก่ตนเอง วัฒนธรรม สังคม และประเทศชาติ จิตสำนึกสาธารณะสามารถถ่ายทอดถึงกันได้ด้วยการมีปฏิสัมพันธ์ทางพฤติกรรมจากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลหนึ่งได้ ทางตะวันตก มีหลักการ แนวคิด และ ทฤษฏี ที่สำคัญเกี่ยวกับจิตสำนึกสาธารณะ คือ ทฤษฎีประชาสังคม อันเป็นที่มาของแนวความคิดเรื่องจิตสำนึกสาธารณะ และเป็นแนวทางที่สืบทอดไปสู่ แนวคิดสังคมเพื่อบุคคล คือแนวคิดที่กำหนดให้บุคคลเป็นจุดศูนย์กลาง และแนวคิดบุคคลเพื่อสังคม เป็นแนวคิดที่กำหนดให้สังคมเป็นจุดศูนย์กลาง
หลักพุทธธรรมที่ใช้ในการพัฒนาจิตสำนึกสาธารณะของมนุษย์ ในงานวิจัยฉบับนี้ ได้นำหลักไตรสิกขามาเป็นหลักตั้งต้นในการพัฒนาจิตสำนึกสาธารณะของมนุษย์ และใช้หลักภาวนา ๔ มาช่วยเสริมในการพัฒนาจิตสำนึกของมนุษย์ เพื่อทำให้การพัฒนาสมบูรณ์ขึ้น และง่ายต่อการทำความเข้าใจ
การพัฒนาจิตสำนึกสาธารณะของมนุษย์ตามหลักพุทธธรรม คือ การมุ่งพัฒนามนุษย์ให้มีจิตสำนึกสาธารณะที่ดีงาม แล้วนำส่วนที่ดีงามไปพัฒนาตนเอง สังคม ประเทศชาติ และธรรมชาติ ให้เกิดความเหมาะสมกลมกลืน สามารถดำรงอยู่ด้วยกันอย่างร่มเย็นสงบสุข
Download
|