การวิจัยเรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อ ๑) ศึกษาเวทนาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) ศึกษาหลักการและวิธีการกำหนดเวทนาตามหลักสติปัฏฐาน ๔และ ๓) ศึกษาประโยชน์และคุณค่าของเวทนาในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานและการดำเนินชีวิต เป็นการวิจัยเอกสาร เสริมด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก ผลการวิจัยพบว่า
เวทนา ได้แก่ ความรู้สึกเป็นสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ สติกำหนดเวทนา ต้องการให้เห็นความจริงตามสภาพที่ปรากฏ เช่น มีอาการ เจ็บ ปวด เป็นต้น เห็นความจริงตามหลักไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา บรรลุความพ้นทุกข์ คือ พระนิพพาน
วิธีการกำหนดเวทนา มีหลักสำคัญคือ เวทนาเป็นเรื่องการเสวยอารมณ์ทางกายและทางใจ การกำหนดจึงมีความยิ่งหย่อนแตกต่างกัน สำนักปฏิบัติธรรม ๓ สำนัก คือ วัดร่ำเปิง วัดพระธาตุศรีจอมทอง และศูนย์ปฏิบัติธรรม ตาณังเลณัง ที่ใช้แนวปฏิบัติตามนัยแห่งอรรถกถา ต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อย ส่วนศูนย์วิปัสสนากรรมฐานธรรมสีมันตะ เห็นว่าเวทนานุปัสสนา คือ ที่รวมลงของธรรมทั้งหลาย (กาย จิต ธรรม) จึงเน้นการกำหนดรู้เวทนาทั้งอนุโลมและปฏิโลม วางใจให้เป็นอุเบกขา ถือเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิบัติสำนักนี้
ประโยชน์ของเวทนา คือ เป็นสิ่งบ่งชี้ความก้าวหน้าของการปฏิบัติ เพราะปรากฏชัดเจนอยู่ตลอดเวลา เป็นเครื่องมือในการพัฒนาสุขภาพกายสุขภาพจิต คุณภาพการเรียนรู้ คุณภาพชีวิต และคุณภาพสังคม เป็นอุปกรณ์ในการบริหารอารมณ์ ทำให้ใจเป็นกลาง ไม่ขึ้นไม่ลงต่ออารมณ์ที่เข้ามากระทบ ไม่ว่าดีหรือไม่ดี สุขหรือทุกข์ ชอบหรือไม่ชอบ คุณค่าของการกำหนดเวทนาเป็นเครื่องประคองชีวิตให้ตั้งอยู่ด้วยสติ สุขมากขึ้นทุกข์น้อยลง ทำให้ชีวิตมีความกลมกลืนและสมดุล
Download |