วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ คือ ๑) เพื่อศึกษารูปแบบพุทธศิลป์ในพระพุทธศาสนา
๒) เพื่อศึกษาแนวความคิด ความเชื่อ และการสร้างพระเจ้าทรงเครื่องในล้านนา๓) วิเคราะห์พระเจ้าทรงเครื่องในล้านนาตามแนวพุทธศิลป์ ใช้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจาก พระไตรปิฎก อรรถกถา และตำนานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างพระเจ้าทรงเครื่องในล้านนา และสัมภาษณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปะ นักวิชาการประวัติศาสตร์พุทธศิลป์ และปราชญ์ล้านนา
ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบพุทธศิลป์ในพระพุทธศาสนา คือสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องส่งเสริมและเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพื่อโน้มน้าวให้พุทธศาสนิกชนได้มีความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา ในด้านความเชื่อ และการสร้างพระเจ้าทรงเครื่องในล้านนา มาจากคติของชมพูปติสูตร หรือเหตุการณ์ตอนที่พระพุทธเจ้า เดินทางไปโปรดแก่พญาชมพูบดี ที่มีความคิดเป็นมิจฉาทิฐิ
ว่าตนเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด ไม่มีผู้ใดเทียบได้ โดยพระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมโปรดพญาชมพูบดีโดยการใช้อภินิหารย์ พญาชมพูบดี ก็ได้ลดทิฐิมานะ หันมานับถือพระพุทธศาสนา พบในคัมภีร์อรรถกถาภาษาบาลี และหนังสือรัตนพิมพ์วงศ์ และหนังสือจามเทวีวงศ์ ในด้านพระเจ้าทรงเครื่องในล้านนาตามแนวพุทธศิลป์นั้น พบว่ามีการสร้างอย่างประณีต มีความละเอียดอ่อนของลายที่เป็นเครื่องทรง บ่งบอกถึงความศรัทธาของเจ้าภาพที่มีต่อพระพุทธศาสนา และช่างที่มีความรู้ความสามารถในงานประติมากรรม อย่างสูง การออกแบบลายเครื่องทรงของพระเจ้าทรงเครื่องเป็นเอกลักษณ์ของดินแดนล้านนา และมีค่าสูงยิ่งในทางของพุทธศิลปกรรม
Download
|