การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ๒ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษากระบวนการปลูกสมุนไพรของบ้านโคกสง่า ๒) เพื่อศึกษาภูมิปัญญาเชิงพุทธในการใช้สมุนไพรของบ้านโคกสง่า การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการสรรหาประชากรผู้ให้ข้อมูลกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง จำนวน ๒๕ คน เครื่องมือที่ใช้สำหรับการวิจัยได้แก่ แบบสัมภาษณ์เชิงลึกที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นและนำเครื่องมือ ไปเก็บข้อมูลจากประชากรผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรของบ้านโคกสง่า ตำบลทรายมูล อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เชิงเนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
กระบวนการปลูกสมุนไพรของบ้านโคกสง่า จังหวัดขอนแก่น พบว่า สมุนไพรบ้านโคกสง่ามีอยู่หลายชนิดมักจะปลูกให้เป็นไปตามธรรมชาติของสมุนไพรชนิดนั้น พื้นที่ของบ้านโคกสง่าเป็นดินเหนียวหรือดินร่วนปนทรายซึ่งมีความเหมาะสมกับการปลูกพืชสมุนไพรได้อย่างดี สามารถจำแนกสมุนไพรเป็น ๒ ประเภท คือ สมุนไพรที่เป็นพืชล้มลุกใช้การปักชำ ส่วนว่านใช้หัวหรือเหง้า โดยเฉพาะกระบวนการปลูกว่านงูต้องนำเศษเหล็กของมีคมใส่ก้นหลุมก่อนปลูกตามแบบโบราณ เพื่อให้ว่านงูดูดซึมธาตุเหล็ก เพระเหล็กเป็นธาตุมีรสเย็น สามารถดับพิษร้อนทั้งปวง จึงทำให้มีสรรพคุณในการดับพิษมากยิ่งขึ้น บางชนิดก่อนรดน้ำ มีการเสกคาถา “นะโมพุทธายะ” ๓ ครั้ง ซึ่งเป็นการใช้พุทธานุสสติ ตามความเชื่อเรื่องอิทธิฤทธิ์ของว่านเพื่อทำให้สารสำคัญและสรรพคุณของว่านต่าง ๆ ที่นำไปใช้สัมฤทธิ์ผลมากยิ่งขึ้น สมุนไพรบางชนิดเก็บเกี่ยวใช้ได้ทันที บางชนิดมีการ แปรรูปเพื่อเก็บไว้ใช้ในระยะเวลา ๑ ปี การถ่ายทอดภูมิปัญญาความรู้ในการปลูกสมุนไพรแบ่งเป็น ๒ ลักษณะ คือ ๑) การถ่ายทอดความรู้ภายในในครัวเรือน เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษเป็นการถ่ายทอดระหว่างเครือญาติ ๒) การสืบทอดความรู้แก่ผู้ที่สนใจศึกษาวิธีการใช้สมุนไพรเพื่อนำไปประกอบอาชีพ ผู้ศึกษาต้องเรียนรู้กระบวนการปลูกสมุนไพรแต่ละชนิดเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีมีสรรพคุณมาก พร้อมทั้งกรรมวิธีในการสกัดสารสำคัญจากส่วนต่าง ๆ ของสมุนไพรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ปัจจุบันได้มีการแปรรูปสมุนไพรเป็นผลิตภัณฑ์สินค้า (OTOP) โดยภาครัฐเข้ามาส่งเสริมให้เป็นวิสาหกิจชุมชนอีกด้วย
ภูมิปัญญาเชิงพุทธในการใช้สมุนไพรของบ้านโคกสง่า จังหวัดขอนแก่น พบว่า เป็นการใช้ สมุนไพรรักษาและวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดความเจ็บไข้ได้ป่วย การผลิตสมุนไพรและการนำไปใช้ก็อาศัยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เช่น ธาตุ ๔, นิยาม ๕, อริยสัจ ๔,อิทธิบาท ๔, พุทธานุสสติ, พรหมวิหาร ๔, สังคหวัตถุ ๔, และหลักสุข ๒ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาในการคิดค้นและการแก้ไขบำบัดรักษาอาการของผู้ป่วย
Download |