การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ๒ ประการ คือ ๑. เพื่อศึกษาสภาพการดำเนินชีวิตของนักศึกษาหลักสูตรครูสมาธิ สถาบันพลังจิตตานุภาพสาขาที่ ๙๕ จังหวัดสกลนคร ๒. เพื่อศึกษาการประยุกต์ใช้หลักกัลยาณมิตรธรรม ของนักศึกษาหลักสูตรครูสมาธิ สถาบันพลังจิตตานุภาพสาขาที่ ๙๕ จังหวัดสกลนคร การวิจัยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่ม และการสังเกต ผลการศึกษาวิจัยพบว่า สภาพการดำเนินชีวิตของนักศึกษาหลักสูตรครูสมาธิ จังหวัดสกลนคร ได้ปฏิบัติตามคำสอนของ พระธรรมมงคลญาณ (พระอาจารย์วิริยังค์ สิรินฺธโร) และได้นำมาเป็นแนวทางการปฏิบัติตน มีความตั้งใจในการศึกษาตามหลักสูตรทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ มีความสามัคคีให้ความร่วมมือด้วยดี มีความเอื้ออาทรต่อกัน ให้ความเคารพต่อกัน นำหลักการปฏิบัติสมาธิอย่างมีสติและต่อเนื่อง ดำรงชีวิตอย่างมีสติและประพฤติชอบด้วย กาย วาจา ใจ เป็นตัวอย่างที่ดีต่อครอบครัว และสังคม เอื้อเฟื้อต่อผู้อื่นสามารถให้คำแนะนำในการปฏิบัติสมาธิ และการดำรงตนในสังคมแก่ผู้อื่นได้อย่างดี การประยุกต์ใช้หลักกัลยาณมิตรธรรมของนักศึกษาหลักสูตรครูสมาธิ จังหวัดสกลนคร มาใช้ในชีวิตประจำวันในแต่ละด้านทั้ง ๗ ประการประกอบด้วย ปิโย (น่ารัก) ครุ (น่าเคารพ) ภาวนีโย (น่าเจริญใจ) วัตตา จะ (รู้จักพูดให้ได้ผล) วจนักขโม (อดทนต่อถ้อยคำ) คัมภีรัญจะ กะถัง กัตตา (แถลงเรื่องล้ำลึกได้) โน จัฏฐาเน นิโยชเย (ไม่ชักนำในอฐาน) นักศึกษายังไม่มีพื้นฐานในความรู้เรื่องหลักกัลยาณมิตรธรรมอย่างครบถ้วน แต่สามารถปฏิบัติตนเป็นไปตามหลักกัลยาณมิตรตามความเข้าใจของตนทั้ง การแต่งกาย กิริยามารยาท การใช้คำพูด เป็นเพื่อนที่ดีต่อกันสนิทสนมเป็นกันเองมีความรู้สึกอบอุ่นพึ่งพากันได้ ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม น้อมนำเอาหลักธรรมพรหมวิหาร ๔ มาใช้ มีกิริยามารยาทที่สุภาพเรียบร้อย รับผิดชอบทั้งในเรื่องส่วนตัวและส่วนรวม มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ให้การช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกัน หมั่นศึกษาหลักธรรมเพื่อการพัฒนาตน ทั้งเป็นคนมีเหตุผลและใช้การพูดเพื่อแสดงความคิดเห็นต่อกันอย่างมีเหตุผล ให้การแนะนำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่เป็นไปด้วยการส่อเสียดนินทา และหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง สามารถให้คำแนะนำในการดำเนินชีวิตและเรื่องที่ลึกซึ้งทั้งทางโลกและทางธรรม ทั้งเรื่องครอบครัว และความก้าวหน้าในการปฏิบัติสมาธิ ไม่ชักนำพากันในทางชั่วร้ายเสื่อมเสีย
Download