หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » วิทูล หนูยิ้มซ้าย
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๐ ครั้ง
รูปแบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยแนวทางพุทธสันติวิธี: กรณีศูนย์ ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสภาทนายความ กรุงเทพมหานคร (สาขาวิชาสันติศึกษา)
ชื่อผู้วิจัย : วิทูล หนูยิ้มซ้าย ข้อมูลวันที่ : ๒๐/๐๓/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส
  บรรพต ต้นธีรวงศ์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

ดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ (๑) เพื่อศึกษาหลักการ แนวคิด ทฤษฎีและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับรูปแบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสากล และรูปแบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสภาทนายความ (๒) เพื่อศึกษารูปแบบในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางพุทธศาสนาเถรวาท (๓) เพื่อเสนอรูปแบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสภาทนายความโดยแนวทางพุทธสันติวิธี การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยเน้นการวิจัยเชิงเอกสารและการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและด้านพระพุทธศาสนาเถรวาท

ผลการศึกษาวิจัย พบว่า

หลักการและวิธีการเกี่ยวกับรูปแบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสากลมีความสอดคล้องกัน กับหลักการและวิธีการของการดำเนินการในศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสภาทนายความในปัจจุบัน มีหลักการการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทดังนี้คือ หลักของการชี้แนะ หลักการสมัครใจอย่างแท้จริง หลักการยุติด้วยความพึงพอใจของคู่ความ หลักการไม่พิจารณาความถูกผิดในข้อกฎหมายและต่างผ่อนปรนให้แก่กัน และหลักการเป็นความลับ ซึ่งเมื่อนำหลักการนี้มาพิจารณาถึงคุณสมบัติของผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ก็จะได้เป็นคุณสมบัติในหลาย ๆ ด้าน กล่าวคือ มีความซื่อสัตย์ มีความคิดสร้างสรรค์และมีสติปัญญา มีความเป็นกลางไม่มีความรู้สึกขุ่นเคืองฝ่ายใด ไม่มีอคติ มองการไกล่เกลี่ยในแง่ดี มีความอดทน เป็นผู้ฟังที่มีประสิทธิภาพ มีความยืดหยุ่น ไม่เป็นผู้ตัดสิน มีความอุตสาหะ วางตัวให้เป็นผู้ที่สมควรได้รับความนับถือ ให้เกียรติคู่พิพาท รักษาความลับของคู่พิพาท มีความสามารถในการเจรจาและสื่อสาร และมีความรู้และประสบการณ์ในการไกล่เกลี่ย โดยมีวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ประกอบไปด้วยบทบาทของผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและเทคนิคในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยบทบาทของผู้ไกล่เกลี่ยประกอบด้วย บทบาทด้านช่วยเหลือ บทบาทด้านสนับสนุนบทบาทด้านการอำนวยความสะดวก บทบาทในการสื่อสารข้อมูล และบทบาทในการปกป้องความน่าเชื่อถือ ส่วนเทคนิคในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทประกอบไปด้วย เทคนิคทางด้านการจัดเตรียมสถานที่ไกล่เกลี่ย เทคนิคในการกล่าวเปิดการไกล่เกลี่ย เทคนิคในการสร้างความไว้วางใจและมิตรไมตรี เทคนิคในการตั้งคำถาม เทคนิคในการฟัง เทคนิคในการกำหนดประเด็น เทคนิคในการแปลงคำพูด รวมไปถึง การวางตัวเป็นกลาง การให้อำนาจแก่คู่พิพาท การตรวจสอบถึงความเป็นไปได้ และการทำสัญญา ส่วนกระบวนการในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางพุทธศาสนาเถรวาท เป็นแนวปฏิบัติตามแบบพุทธสันติวิธี โดยยึดหลักอริยสัจ ๔
ในการวิเคราะห์ปัญหา และในงานวิจัยครั้งนี้ได้นำเสนอรูปแบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสภาทนายความโดยแนวทางพุทธสันติวิธี ประกอบด้วยรูปแบบด้านคุณสมบัติของผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท อันประกอบด้วยคุณสมบัติภายในและคุณสมบัติภายนอกของผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ซึ่งกำหนดคุณสมบัติภายในไว้คือ เป็นผู้มีสติ มีขันติ ไร้อคติ และมีพรหมวิหารธรรม คุณสมบัติภายนอกคือ มีกัลยาณมิตรธรรม มีศีลธรรม และมีคารวธรรม รูปแบบด้านวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท อันประกอบด้วยบทบาทของผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและเทคนิคในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยใช้บทบาทด้านเมตตาตามหลักสาราณียธรรม และใช้เทคนิคที่เป็นทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทา สุดท้ายรูปแบบด้านกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ใช้หลักอริยสัจ๔ในการดำเนินกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ซึ่งมีลำดับขั้นตอนของกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ๕ ขั้นตอน คือ ๑) ตั้งต้นวิเคราะห์ทุกข์ ๒) เปิดมุขด้วยปิยวาจา ๓) ใช้เมตตาค้นหาประเด็น ๔) ร่วมคิดเห็นอย่างไร้อคติ และ ๕) มุ่งมิติอภัยทาน โดยมีเป้าหมายของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท คือ “สันติ” หรือการที่คู่พิพาทยุติข้อพิพาทโดยไม่ติดใจเอาความต่อกันอีก
 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕