การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ ๑. เพื่อศึกษาสมรรถนะการบริหารของผู้บริหารเทศบาลตำบลบางละมุง จังหวัดชลบุรี ๒. เพื่อเปรียบเทียบสมรรถนะการบริหารของผู้บริหารเทศบาลตำบลบางละมุง จังหวัดชลบุรี ตามความคิดเห็นของพนักงานโดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ๓. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการบริหารงานตามหลักอิทธิบาท ๔ ของผู้บริหารมีความสัมพันธ์กับการพัฒนาสมรรถนะการบริหารของผู้บริหารเทศบาลตำบลบางละมุง จังหวัดชลบุรี ๔. เพื่อศึกษาแนวทางต่อการพัฒนาสมรรถนะการบริหารของผู้บริหารเทศบาลตำบลบางละมุง จังหวัดชลบุรี
การวิจัยเป็นแบบผสานวิธี ประกอบด้วยการวิจัยเชิงปริมาณ ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ ๐.๙๘๖ กลุ่มตัวอย่างได้มาจากบุคลากรและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในเทศบาลตำบลบางละมุง จังหวัดชลบุรี จำนวน ๙๐ คน โดยสุ่มตัวอย่างจากประชากร จำนวน ๑๑๖ คน คำนวณจากสูตรทาโร่ ยามาเน่ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบสมมติฐานโดยการทดสอบค่าที และการทดสอบค่าเอฟ ด้วยวิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว เมื่อพบว่ามีความแตกต่างจะทำการเปรียบเทียบความแตกต่างค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่ด้วยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถามปลายเปิด วิเคราะห์โดยการพรรณนาแจกแจงความถี่ประกอบตาราง และวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน ๑๒ คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้เทคนิควิเคราะห์เนื้อหาเชิงพรรณนา
ผลการวิจัยพบว่า
๑. สมรรถนะการบริหารของผู้บริหารเทศบาลตำบลบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ( = ๔.๐๐, S.D. = ๐.๓๑๗) เมื่อจำแนกเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน ตามลำดับค่าเฉลี่ย คือ ด้านสมรรถนะในการบริหารตนเอง ( = ๔.๑๗, S.D. =๐.๖๒๗) ด้านสมรรถนะในการตระหนักรับรู้เรื่องโลกาภิวัตน์ ( = ๔.๐๓, S.D. =๐.๕๗๒) ด้านสมรรถนะในการสื่อสาร ( = ๔.๐๐, S.D. =๐.๔๖๘) ด้านสมรรถนะในการปฏิบัติเชิงกลยุทธ์ ( = ๓.๙๙, S.D. =๐.๕๕๕) ด้านสมรรถนะในการทำงานเป็นทีม ( = ๓.๙๔, S.D. =๐.๕๓๘) และด้านสมรรถนะในการวางแผนและการบริหารจัดการ ( = ๓.๘๒, S.D. =๐.๘๖๕)
๒. ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นของบุคลากรต่อการพัฒนาสมรรถนะการบริหารของผู้บริหารเทศบาลตำบลบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล พบว่า บุคลากรที่มีอายุ ต่างกัน มีความคิดเห็นแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๑ จึงยอมรับสมมติฐานการวิจัย ส่วนบุคลากรที่มีเพศ ระดับการศึกษา ประสบการณ์ทำงาน ตำแหน่ง ต่างกัน มีความคิดเห็นไม่แตกต่างกัน จึงปฏิเสธสมมติฐานการวิจัย
๓. ความสัมพันธ์ระหว่างหลักอิทธิบาท ๔ กับการพัฒนาสมรรถนะการบริหารของผู้บริหารเทศบาลตำบลบางละมุง จังหวัดชลบุรี พบว่า หลักอิทธิบาท ๔ มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการพัฒนาสมรรถนะการบริหารของผู้บริหารเทศบาล โดยภาพรวมอยู่ในระดับต่ำ (R = .๒๑๙)
๔. แนวทางการพัฒนาสมรรถนะการบริหารของผู้บริหารเทศบาลตำบลบางละมุง จังหวัดชลบุรี คือ ผู้บริหารควรเปิดโอกาสให้บุคลากรได้แสดงความคิดเห็น แสดงศักยภาพ และความเสมอภาคในการพัฒนาองค์กร และเพื่อให้พนักงานนั้นรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร จะต้องพัฒนาความสามารถในการปฏิบัติงานได้ตามเป้าหมายให้เป็นระบบในการทำงานตามแผนงาน ให้มีการจัดอบรมภาวะผู้นำ สนับสนุนการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชา ให้ไปอบรมดูงานนอกสถานที่ทั้งในและต่างประเทศ และประเมินการทำงานของพนักงาน ผู้บริหารจะต้องให้ความร่วมมือในการทำงานกับเพื่อนร่วมงาน เพื่อเกิดความสามัคคีระหว่างผู้บริหารกับผู้ใต้บังคับบัญชา
Download
|