การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์คือ ๑. เพื่อศึกษาระดับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเทศบาลเมืองลำตาเสา อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามความคิดเห็นของบุคลากร
๒. เพื่อเปรียบเทียบระดับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเทศบาลเมืองลำตาเสา อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ๓. เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเทศบาลเมืองลำตาเสา อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
การวิจัยครั้งนี้เป็นแบบผสานวิธี ระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ การวิจัยเชิงปริมาณแจกแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน ๑๒๘ คน โดยวิธีการสุ่มอย่างง่าย จากประชากรจำนวน ๑๙๑ คน ที่เป็นบุคลากรของเทศบาลเมืองลำตาเสา อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยการเปิดตารางขนาดกลุ่มตัวอย่างของ เครชี่ และมอร์แกน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวมรวมข้อมูลคือ แบบสอบถามแบบมาตรประมาณค่า ๕ ระดับ
มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ ๐.๙๑๖ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ หาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว และเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่โดยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด การวิจัยเชิงคุณภาพดำเนินการโดยสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน ๑๑ คน โดยการเลือกแบบเจาะจง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาเชิงพรรณนา
ผลการวิจัยพบว่า
๑. ระดับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเทศบาลเมืองลำตาเสา อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ( = ๔.๓๓, S.D. = ๐.๑๐๐) เมื่อจำแนกเป็นรายด้านพบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน โดยที่ด้านการพัฒนา มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ( = ๔.๓๔, S.D. = ๐.๑๘๒) รองลงมา คือ ด้านการศึกษา ( = ๔.๓๒, S.D. = ๐.๑๖๔) และด้านการฝึกอบรม ( =๔.๓๒, S.D. = ๐.๑๖๖) ตามลำดับ
๒. ผลการเปรียบเทียบระดับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเทศบาลเมืองลำตาเสา อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยภาพรวม จำแนกตามเพศ อายุ ระดับการศึกษา ตำแหน่ง และระยะเวลาในการปฏิบัติงาน พบว่า บุคลากรมีระดับการพัฒนาไม่แตกต่างกัน เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า ทุกด้านไม่มีความแตกต่างกัน ดังนั้นจึงปฏิเสธสมมติฐานการวิจัย
๓. แนวทางในการการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเทศบาลเมืองลำตาเสา อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่า ด้านการฝึกอบรม เป็นการพัฒนาวิชาชีพ และทักษะความสามารถในการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามเป้าหมายขององค์กร เน้นที่การฝึกอบรมให้บุคลากรมีระเบียบวินัยและขีดความสามารถในการปฏิบัติงาน ตามกรอบของหลักธรรมาภิบาล ด้านการศึกษา เป็นการพัฒนาวิชาการให้บุคลากรได้มีความรู้ในระดับที่สูงขึ้นโดยเน้นสาขาวิชาที่สอดคล้องกับภาระงาน มีกระบวนการคือสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นให้บุคลากรได้ศึกษาต่อยอดความรู้ ด้านการพัฒนา เป็นการพัฒนาวิชาชีวิต กล่าวคือทัศนคติของบุคลากร ให้เกิดความสัมพันธ์ในระดับบุคคลและองค์กร ให้มีศิลปะในการปฏิบัติงาน
Download
|