การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ ๑) ศึกษาความงามตามทฤษฎีวัตถุวิสัย ๒) ศึกษาผ้าไหมนครชัยบุรินทร์และ ๓) วิเคราะห์ความงามผ้าไหมนครชัยบุรินทร์ ตามทฤษฎีวัตถุวิสัย ซึ่งเป็นการวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการเก็บข้อมูลจากการสนทนากลุ่มและการสัมภาษณ์เชิงลึกกับกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มผู้ทอผ้าไหมและกลุ่มปราชญ์ชาวบ้าน ๒๐ คน กลุ่มผู้ส่งเสริม ๑๖ คน กลุ่มผู้ให้ข้อมูลทั่วไป ๑๖ คน รวม ๕๒ คน แล้ววิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนาตามหลักอุปนัยวิธี
ผลการวิจัยพบว่า
๑) ความงามตามทฤษฎีวัตถุวิสัย เป็นการมองคุณค่าของสุนทรียะนั้นเป็นเรื่องของวัตถุอย่างเดียวที่ประกอบด้วยองค์ประกอบของศิลปวัตถุ ได้แก่ สี ขนาด สัดส่วน ช่วงจังหวะ บริเวณช่องว่างและตัวประกอบเสริม โดยสามารถรับรู้คุณค่าของศิลปวัตถุนี้ได้ด้วยประสาทสัมผัส ซึ่งคนส่วนใหญ่เกิดความพึงพอใจหรือชอบในศิลปวัตถุชิ้นนั้นๆ
๒) ผืนผ้าไหมนครชัยบุรินทร์ ได้แก่ ผ้าไหมหางกระรอก จังหวัดนครราชสีมา ผ้าไหมขอคั่นนารี จังหวัดชัยภูมิ ผ้าไหมตีนแดง จังหวัดบุรีรัมย์ และผ้าไหมโฮล จังหวัดสุรินทร์ เป็นงานหัตถศิลป์ประเภทผ้าทอมือที่มีความงามของผืนผ้าไหมและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น ด้วยสีสัน ลวดลาย เพื่อตอบสนองจุดมุ่งหมายการนำไปใช้ต่าง ๆ
๓) ความงามของผ้าไหมนครชัยบุรินทร์ตามทฤษฎีวัตถุวิสัย เป็นความงามที่ผ่านกระบวนการทออย่างพิถีพิถัน บรรจงและประณีตประกอบกับความเพียรของตัวผู้ทอ ด้วยอาศัยความรู้ในศาสตร์และศิลป์เกี่ยวกับการทอผ้าเป็นอย่างดี เมื่อวิเคราะห์คุณค่าความงามตามทฤษฎีวัตถุวิสัย จะเห็นว่าคุณค่าความงามของผ้าไหมหางกระรอก ผ้าไหมขอคั่นนารี ผ้าไหมตีนแดง และผ้าไหมโฮล มีคุณสมบัติความงาม ๓ ประการ คือ ๑) ความงามเกิดจากเส้น สี ขนาดสัดส่วน ช่วงจังหวะ บริเวณว่าง และสีสัน ๒) ความงามเกิดจากการอธิบายโดยอาศัยศิลปะ และ๓) ความงามเกิดจากการรับรู้ด้วยประสาทสัมผัส
Download
|