วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาอกุศลจิตในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท และเพื่อศึกษาอกุศลจิตในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร โดยศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท คือ พระไตรปิฎก อรรถกถา และคัมภีร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น คัมภีร์วิสุทธิมรรค เป็นต้น ตรวจสอบโดยอาจารย์ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญ ปรับปรุงแก้ไข เรียบเรียง บรรยายเชิงพรรณนา จากการศึกษาพบว่า
อกุศลจิต มี ๓ ลักษณะคือ (๑) ความโลภ (๒) ความโกรธ (๓) ความหลง เป็นจิตที่มีโทษ ประทุษร้าย เป็นบาป ส่งผลไปเกิดในอบายภูมิ ๔ และเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่สิ้นสุด การจะละอกุศลจิตนั้นจะต้องมีสติระลึกรู้ในจิตตนว่ากำลังเกิดอกุศลจิตและใช้ปัญญาในหลักธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน มาชำระขัดเกลากิเลสเหล่านั้นให้ดับไปเป็นขั้น ๆ จนถึงการประหานอกุศลจิตเหล่านั้นโดยสมุทเฉท เป็นเหตุให้บรรลุพระนิพพานได้
จากการศึกษาการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาทพบว่า วิปัสสนาภาวนา คือ การพัฒนาอบรมปัญญาให้เจริญยิ่งๆขึ้นไปด้วยการตามดูตามรู้ความรู้สึกนึกคิดและอาการต่าง ๆ ของรูปนามที่เข้ามากระทบกายใจตามความเป็นจริงในปัจจุบันขณะนั้นๆ โดยความเป็นไตรลักษณ์ตามหลักสติปัฏฐาน ๔ อันเป็นทางสายเอก สายเดียวเท่านั้น ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ถึงขั้นหลุดพ้นจากวัฏฏะสงสารได้
จากการศึกษาอกุศลจิตในการปฏิบัติวิปัสสนาพบว่า อกุศลจิตเป็นเหตุขวางกั้นการดำเนินตามมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นหนทางแห่งความหลุดพ้น ในหลักจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน มุ่งเน้นให้ผู้ปฏิบัติมีสติรู้เท่าทันจิตของตนเองว่ากำลังมีโลภะ โทสะ หรือโมหะ เกิดในขณะนั้น ๆ สมาธิและปัญญาที่ฝึกมาดีแล้วจะสามารถพิจารณาธรรม เป็นเหตุให้เข้าถึงการบรรลุธรรมขั้นสูงสุด พ้นจากทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิดในที่สุด
Download
|