การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาการจัดกิจกรรมการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงของสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษา สังกัดองค์กรส่วนท้องถิ่น จังหวัดสมุทรปราการ ๒) เพื่อศึกษาการเปรียบเทียบความคิดเห็นต่อการจัดกิจกรรมการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงของสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษา สังกัดองค์กรส่วนท้องถิ่น จังหวัดสมุทรปราการ จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ๓) เพื่อนำเสนอแนวทางการพัฒนากิจกรรมการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงของสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษา สังกัดองค์กรส่วนท้องถิ่น จังหวัดสมุทรปราการ รูปแบบการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) ควบคู่กับการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) ซึ่งเป็นการวิจัยแบบผสม (Mixed Methodology Research) ระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณกับการวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งกลุ่มตัวอย่าง จำนวน ๓๔๖ คน โดยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) เครื่องที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม สถิติวิเคราะห์ คือ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และใช้สถิติวิเคราะห์หาค่าที (t-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way ANOVA)
ผลการวิจัย พบว่า
๑. ความคิดเห็นต่อการพัฒนากิจกรรมการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงของสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษา สังกัดองค์กรส่วนท้องถิ่น จังหวัดสมุทรปราการ พบว่า ความคิดเห็นของนักเรียนต่อการพัฒนากิจกรรมการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงของสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษา สังกัดองค์กรส่วนท้องถิ่น จังหวัดสมุทรปราการ โดยภาพรวม และรายด้านทุกด้าน อยู่ในระดับมาก
๒. การเปรียบเทียบความคิดเห็นต่อการพัฒนากิจกรรมการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงของสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษา สังกัดองค์กรส่วนท้องถิ่น จังหวัดสมุทรปราการ จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล พบว่า นักเรียนที่มีเพศ และชั้นปีที่ศึกษา ต่างกัน มีความคิดเห็นต่อการพัฒนากิจกรรมการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงของสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษา สังกัดองค์กรส่วนท้องถิ่น จังหวัดสมุทรปราการ โดยรวมแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕
๓. ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนากิจกรรมการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงของสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษา สังกัดองค์กรส่วนท้องถิ่น จังหวัดสมุทรปราการ พบว่า ๑) ด้านการวางแผนการจัดกิจกรรม โรงเรียนควรเน้นกิจกรรมที่ให้นักเรียนค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งใน และ นอกสถานที่ และควรเน้นให้นักเรียนได้ประชุมกลุ่มวางแผนการจัดนิทรรศการเศรษฐกิจพอเพียง ๒) ด้านความพอประมาณ โรงเรียนควรเน้นให้นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความพอประมาณ และความเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจทั่วไป และควรเน้นให้นักเรียนเห็นประโยชน์ และตระหนักในความสำคัญของการ ดำเนินชีวิตตามหลักความพอประมาณ ๓) ด้านความมีเหตุ โรงเรียนควรเน้นให้นักเรียนปฏิบัติตนอย่างมีเหตุผล บนพื้นฐานของความถูกต้อง และควรเน้นให้นักเรียนมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการดำเนินชีวิต ๔) ด้านความมีภูมิคุ้มกัน โรงเรียนควรเน้นให้นักเรียนมีภูมิคุ้มกันในการเตรียมความพร้อมจากการดำเนินชีวิตประจำวัน และควรเน้นให้นักเรียนมีการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเองให้พอเพียงที่จะสามารถพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในโรงเรียนได้ และ ๕) ด้านการวัดและประเมิน โรงเรียนควรเน้นให้นักเรียนมีการวัดผลและประเมินผล และนำผลมาใช้ประโยชน์ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้อยู่อย่างพอเพียง และควรเน้นให้นักเรียนมีการวัดและประเมินผล ที่หลากหลาย และสอดคล้องกับการจัดกิจกรรม
Download |