การวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ ๒ ประการ คือ ๑)เพื่อศึกษาประวัติและการปฏิบัติงานของจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม และ ๒) เพื่อศึกษาผลการปฏิบัติงานของจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม จังหวัดขอนแก่น รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ประชากรที่ใช้ศึกษา ได้แก่ ประชาชนผู้เข้าปฏิบัติตามแนวทางการปฏิบัติของจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม อายุตั้งแต่ ๔๐ ปีขึ้นไป โดยใช้แบบสัมภาษณ์เชิงลึกวิเคราะห์พฤติกรรมการปฏิบัติตามหลักการแพทย์วิถีธรรมหรือเทคนิค ๙ ข้อแล้วนำเสนอผลการวิจัยเชิงพรรณนาวิเคราะห์
ผลการวิจัยพบว่าจิตอาสาแพทย์วิถีธรรมเป็นบุคคลที่ได้เรียนรู้การแพทย์วิถีธรรม ซึ่งเป็นการแพทย์ที่บูรณาการองค์ความรู้ โดยเอาจุดดีของวิทยาศาสตร์สุขภาพ แพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย และแพทย์พื้นบ้าน เป็นการปรับใช้แบบบูรณาการด้วยพุทธธรรมอย่างเหมาะ โดยมีการปฏิบัติงานด้วยการเกื้อกูลต่อมนุษยชาติ การสานพลังกับคนดี พึ่งตนในการสร้างสุขภาวะและสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ผู้อื่นโดยไม่รับค่าตอบแทนใดๆมีการปลูกฝังให้ตระหนักถึงความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมด้านร่างกาย จิตใจ ความรู้ การติดต่อสื่อสาร การสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง มุ่งประโยชน์ต่อส่วนรวม และการเข้าร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง
ผลการปฏิบัติงานของจิตอาสาแพทย์วิถีธรรมมี ๔ ประการ ได้แก่ ๑) สุขภาวะทางกายคือมีตาที่สดใส มีผิวหนังราบเรียบ ฟันแข็งแรง ๒) สุขภาวะทางจิตใจคือรู้สึกมีพลัง สดชื่น เบิกบานใจ มีจิตใจมั่นคงแข็งแรง เชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง และมีความพร้อมที่จะดูแลตนเอง ๓) สุขภาวะทางสังคมคือมีความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัว มีโอกาสช่วยเหลือผู้อื่น เกิดปณิธานว่าจะเป็นคนดีของสังคม และ ๔) สุขภาวะทางปัญญาคือคำนึงถึงประโยชน์และคุณค่าของอาหาร มีความคิดว่าไม่มีใครรักเราเท่ากับเรารักตัวเอง จะตั้งใจกินอาหารเป็นยา และเชิญชวนผู้อื่นให้หันมาทานอาหารสุขภาพมากขึ้น
Download |