ดุษฎีนิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและอุปสรรคของผู้ประนีประนอมข้อพิพาทประจำศาล จังหวัดชลบุรี (๒) เพื่อศึกษาวิธีการพัฒนาศักยภาพผู้ประนีประนอมข้อพิพาทและหลักพุทธธรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของผู้ประนีประนอม (๓) เพื่อเสนอรูปแบบการพัฒนาผู้ประนีประนอมข้อพิพาทประจำศาลจังหวัดชลบุรี โดยหลักพุทธสันติวิธี สำหรับการดำเนินการวิจัย ผู้วิจัยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพภาคสนาม โดยใช้จิตอาสาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของผู้ประนีประนอมข้อพิพาทมากกว่า ๓ ปี ทั้งศึกษาจากเอกสารตลอดถึงงานวิจัยต่างๆ และการสัมภาษณ์เชิงลึก จากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ๒๘ ท่าน รวบรวบข้อมูลมาวิเคราะห์ นำเกณฑ์ชี้วัดและข้อมูลที่ได้มาสังเคราะห์เพื่อสร้างรูปแบบการพัฒนาผู้ประนีประนอมข้อพิพาทโดยหลักพุทธธรรมที่เหมาะควรแก่การพัฒนา ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ครบทุกมิติครอบคลุมทั้งภายนอกและภายในตามหลักของภาวนา ๔ ประการ และผลของการวิจัยพบว่า
(๑) จากศึกษาสภาพปัญหาและอุปสรรคของผู้ประนีประนอมข้อพิพาทประจำศาล จังหวัดชลบุรี พบว่าผู้ประนีประนอมข้อพิพาทบางส่วน มองข้ามปัจจัยสำคัญของการพัฒนาที่ได้รับข้อมูลมาจากสำนักส่งเสริมงานตุลาการของสำนักงานศาลยุติธรรม ภายใต้ความเชื่อมั่นของแต่ละคนและประสบการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่เดิมมาอย่างยาวนาน ทั้งคุณวุฒิ วัยวุฒิ ความรู้ความสามารถ อีกทั้งผู้ประนีประนอมบางคนคุ้นชินกับการอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ก่อนที่จะมาปฏิบัติหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท จึงเป็นการยากที่จะยอมรับทฤษฎีของกระบวนการอบรมและพัฒนาศักยภาพสมัยใหม่ แต่ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ภายใต้กรอบแห่งกฎหมาย ซึ่งมุ่งผลความสำเร็จในทางคดีมากกว่าการมุ่งที่จะให้เกิดสันติสุขแก่สังคม ยังขาดการใช้เครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาตน ตลอดถึงขาดการนำหลักธรรมมาพัฒนาตนให้มีความดีพร้อมและสมบูรณ์
(๒) ศึกษาวิธีการพัฒนาศักยภาพผู้ประนีประนอมข้อพิพาทและหลักพุทธธรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพ ซึ่งผู้วิจัยพบและเห็นควรที่จะนำเอาหลักภาวนา ๔ มาใช้เป็นกรอบแนวคิดในการพัฒนา ตลอดถึงการมุ่งเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์และสังเคราะห์แล้ว พบว่าการพัฒนาผู้ประนีประนอมนั้นมี ๓ ระยะ ส่วนหลักธรรมที่ส่งเสริมและเหมาะสมกับการพัฒนาศักยภาพภายในของผู้ประนีประนอมขั้นสูงสุด คือ อารยวัฒิ ๕ หรือการเจริญที่สูงส่ง หนึ่งในเจ็ดของหลักสัปปุริสธรรมที่เป็นภาคแสดงของการพัฒนา ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่จะนำไปใช้เสริมต่อยอดศักยภาพเพิ่ม และขึ้นอยู่กับความประสงค์ของผู้ประนีประนอมข้อพิพาทผู้นั้นเป็นหลัก
(๓) เสนอรูปแบบการพัฒนาผู้ประนีประนอมข้อพิพาทประจำศาลจังหวัดชลบุรี โดยหลักพุทธสันติวิธี นำผลจากการวิเคราะห์มาสร้างเป็นรูปแบบสำหรับการพัฒนาผู้ประนีประนอมข้อพิพาท รวม ๔ ด้าน โดยผู้วิจัยใช้หลักภาวนา ๔ เป็นกรอบในการดำเนินการวิจัย รูปแบบที่ผู้วิจัยได้สร้างขึ้นมีกระบวนการ ๗ ขั้นตอน คือ ๑) พัฒนาผู้ประนีประนอมให้มีทัศนคติเชิงบวก ๒) ฝึกอบรมให้เป็นผู้ฟังอย่างลึกซึ้ง เน้นการสร้างความไว้วางใจ ๓) วางหลักภาวนา ๔ เป็นกรอบในการพัฒนาให้ครบทั้งสี่ด้าน ๔) กระตุ้นให้เกิดความใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาสร้างองค์ความรู้เพิ่ม ๕) ยกระดับให้เป็นผู้มีจิตอาสา ๖) ทุกระยะของการพัฒนาศักยภาพของตนและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ควรนำหลักสัปปุริสธรรมทั้งเจ็ดประการมาใช้เป็นภาคแสดงอย่างครบถ้วน ๗) มุ่งสู่เป้าหมายหลักที่สำคัญคือ การนำสังคมให้อุดมด้วยสันติ
Download
|