การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดทฤษฎีเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุหลังเกษียณอายุ ๒) เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุหลังเกษียณอายุ และ ๓) เพื่อนำเสนอแนวทางการประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุหลังเกษียณอายุ ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยศึกษาข้อมูลจากด้านเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มตัวอย่างผู้สูงอายุที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีจำนวน ๑๒ รูป/คน
ผลการวิจัยพบว่า แนวคิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบตะวันตก คือการพัฒนาชีวิตของบุคคลให้สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและจิตวิญญาณ ความพึงพอใจในชีวิตของแต่ละบุคคล ด้านร่างกาย ให้มีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์สุขภาพอนามัยดีไม่เจ็บป่วยง่าย มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี ด้านจิตใจ มีความพึงพอใจในชีวิตของตนรวมถึงการดำรงชีวิตให้มีความสุขและจัดการกับความโศกเศร้า ด้านสังคม ความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ภายใต้วัฒนธรรม ค่านิยม ไม่สร้างปัญหาให้แก่สังคม มีครอบครัวที่อบอุ่น เป็นประชากรที่ดีของประเทศ และด้านปัญญา มีการศึกษาดี การได้รับข่าวสาร ประกอบอาชีพที่มีประสิทธิภาพ ใช้จ่ายอย่างประหยัด
หลักพุทธธรรมที่ใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุหลังเกษียณอายุ ใช้ภาวนา ๔เป็นตัวหลักในการพัฒนาชีวิต ๔ ด้าน พัฒนากาย ปฏิบัติตามหลักอายุสสธรรม ๕ และสัปปายะ ๗ ในการดำเนินชีวิต ช่วยส่งเสริมสุขภาพ ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงมีอายุยืนเพราะอาศัยอยู่กับธรรมชาติ พัฒนาศีลหรือพฤติกรรมด้านสังคม ปฏิบัติตามหลักพรหมวิหาร ๔ และสังคหวัตถุ ๔ มีความเมตตากรุณาช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์จากการให้ทานและแบ่งปันทรัพย์สินให้แก่ลูกหลานและผู้ยากไร้ตามโอกาสอันควร มีความยุติธรรมและสร้างสรรค์ก่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะและครอบครัว บำเพ็ญตนทำประโยชน์ต่อสังคม วางตนให้เหมาะสมกับฐานะของตน พัฒนาจิต ปฏิบัติตามหลักโลกธรรม ๘ มีความเข้มแข็งของจิต สงบไม่ฟุ้งซ่าน ให้ปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นใน ลาภ ยศ เป็นสิ่งไม่เที่ยง พัฒนาปัญญา ปฏิบัติตามหลักภาวนา ๔ บริโภคปัจจัยในการดำเนินชีวิตให้เกิดประโยชน์และคุณค่าอย่างแท้จริงไม่หลงมัวเมาในวัตถุนิยมซึ่งเป็นหนทางแห่งความฟุ่มเฟือย รู้เท่าทันโลกและชีวิตความเป็นจริงแก้ปัญหาด้วยสติปัญญา
แนวทางการประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุหลังเกษียณอายุ คือการปฏิบัติตามหลักพุทธธรรมดังกล่าวในการดำเนินชีวิตประจำวันเพื่อแก้ไขปัญหาของผู้สูงอายุหลังเกษียณอายุทั้ง ๔ ด้าน ด้านร่างกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ ตรวจสุขภาพประจำปี เจ็บป่วยรีบรักษา ด้านจิตใจ ปฏิบัติสมาธิบำเพ็ญเพียรภาวนาทำจิตให้สงบ ปล่อยวางในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนของเรา มีคุณธรรมเปี่ยมด้วยความเมตตาต่อผู้อื่น มีความสุข ด้านสังคมและครอบครัว ประพฤติตนอยู่ในศีลไม่เบียดเบียนผู้อื่น แบ่งปันทรัพย์สินให้ลูกหลานและให้ทานแก่ผู้ยากไร้ สร้างศรัทธาในตนให้เป็นที่รักที่นับถือของลูกหลานและสังคมในการทำประโยชน์และสร้างคุณงามความดีต่อสังคม ด้านปัญญา รู้เท่าทันโลกและเหตุการณ์ปัจจุบัน ดำเนินชีวิตด้วยสติปัญญา พึ่งพาตนเองได้ อยู่อย่างพอเพียง ไม่ประมาทในการใช้จ่าย รู้จักการออมทรัพย์และการคบเพื่อนกัลยาณมิตร
Download
|