การวิจัยเรื่อง “ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการเตรียมตัวก่อนตายของผู้สูงอายุในชมรมปฏิบัติธรรม ๒๔น.จังหวัดปราจีนบุรี” โดยมีวัตถุประสงค์ของการวิจัยคือ ๑) เพื่อศึกษาระดับของพฤติกรรมการเตรียมตัวก่อนตายของผู้สูงอายุในชมรมปฏิบัติธรรม ๒๔ น. จังหวัดปราจีนบุรี ๒) เพื่อเปรียบเทียบระดับพฤติกรรมการเตรียมตัวก่อนตายของผู้สูงอายุในชมรมปฏิบัติธรรม ๒๔ น. ปราจีนบุรี ที่มีปัจจัยส่วนบุคคลแตกต่างกันไป ๓) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่เกี่ยวกับการเตรียมก่อนตายกับพฤติกรรมการเตรียมตัวก่อนตายของผู้สูงอายุในชมรมปฏิบัติธรรม ๒๔ น. จังหวัดปราจีนบุรี กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุ จำนวน ๑๑๐ คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือแบบสอบถามที่ ประกอบด้วยข้อมูลส่วนบุคคล ความคิดเห็นต่อต่อปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมตัวก่อนตาย และพฤติกรรมการเตรียมตัวก่อนตายของผู้สูงอายุ สถิติที่ใช้ได้แก่ ค่าความถี่ ร้อยละ คะแนนเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน T- test F-test (One-Way ANOVA) ทดสอบรายคูด้วยวิธี LSD (Least Significant Difference) และค่าสหสัมพันธ์เพียร์สัน (Pearson’s correlation coefficient) โดยกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ ๐.๐๕
ผลการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุที่มาร่วมกิจกรรมในชมรมปฏิบัติธรรม ๒๔ น. จังหวัดปราจีนบุรี มีระดับของพฤติกรรมการเตรียมตัวก่อนตายของผู้สูงอายุในชมรมปฏิบัติธรรม ๒๔ น. จังหวัดปราจีนบุรีอยู่ในระดับมาก (= ๓.๙๐)
การเปรียบเทียบผู้สูงอายุในชมรมปฏิบัติธรรม ๒๔ น. จังหวัดปราจีนบุรีที่มีเพศ,สถานภาพสมรส,รายได้ต่อเดือนแตกต่างกัน มีพฤติกรรมในการเตรียมตัวก่อนตายไม่แตกต่างกัน ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ ๐.๐๕ ส่วนผู้สูงอายุในชมรมปฏิบัติธรรม ๒๔ น. จังหวัดปราจีนบุรีที่มีอายุ,ระดับการศึกษา,ประสบการณ์ในการร่วมกิจกรรม ณ ชมรมปฏิบัติธรรม ๒๔ น.จังหวัดปราจีนบุรีแตกต่างกัน มีพฤติกรรมในการเตรียมตัวก่อนตายแตกต่างกัน ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ ๐.๐๕
ปัจจัยเกี่ยวกับการเตรียมตัวก่อนตายโดยรวมมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมในการเตรียมตัวก่อนตายของผู้สูงอายุในชมรมปฏิบัติธรรม ๒๔ น. จังหวัดปราจีนบุรีโดยรวม ทิศทางเดียวกันในระดับปานกลาง (r = ๐.๓๒) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า การสนับสนุนทางสังคม ความเชื่อทางศาสนาเกี่ยวกับความตาย และการรับรู้ภาวะสุขภาพ กับพฤติกรรมในการเตรียมตัวก่อนตายโดยรวมมีความสัมพันธ์ทิศทางเดียวกัน r = ๐.๕๔ , ๐.๔๕ และ ๐.๒๓ ตามลำดับ ส่วนความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตาย กับพฤติกรรมในการเตรียมตัวก่อนตายโดยรวม มีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้าม r = -๐.๒๐ ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ ๐.๐๕
สรุปจากผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าระดับพฤติกรรมการเตรียมตัวก่อนตายของผู้สูงอายุมีความสัมพันธ์กับการสนับสนุนทางสังคม, ความเชื่อทางศาสนาเกี่ยวกับความตาย และการรับรู้ภาวะสุขภาพ อันเป็นแนวโน้มที่ดีที่ผู้สูงอายุที่ได้มาร่วมกิจกรรมปฏิบัติธรรมมีพฤติกรรมการเตรียมตัวก่อนตายไปในทางบวก ดังนั้นบุคคลในครอบครัวของผู้สูงอายุจึงควรให้การสนับสนุนปัจจัยการเตรียมตัวก่อนตายทั้งสามด้านให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีกำลังใจเพื่อช่วยลดความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตายให้ลดน้อยลงโดยการหากิจกรรมที่ผ่อนคลายได้ทำร่วมกัน การให้ลูกหลานญาติเพื่อนรุ่นเดียวกันของผู้สูงอายุได้มาพูดคุย,มาสวมกอด,การได้จับมือบีบนวดผู้สูงอายุอย่างสม่ำเสมอ จะเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้ผู้สูงอายุที่ท่านไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว.
Download |