การศึกษาวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์คือ (๑) เพื่อศึกษาจิตที่ปรากฏในคัมภีร์ธัมมสังคณี
(๒) เพื่อศึกษาจิตที่ปรากฏในคัมภีร์อรรถกถาชื่ออรรถสาลินี (๓) เพื่อวิเคราะห์จิตในคัมภีร์ธัมมสังคณี และอัฏฐสาลินีตามแนวปรมัตถธรรม การศึกษาวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร
ผลการวิจัยพบว่า
จิตคือธรรมชาติที่รู้แจ้งอารมณ์ เป็นศาสตร์แห่งนามธรรม เพราะว่าจิตนี้เป็นธรรมชาติที่ดิ้นรน กวัดแกว่ง รักษายาก ห้ามยาก ธรรมชาติของจิตนี้ ย่อมดิ้นรนไปมา เป็นธรรมชาติเที่ยวไปไกล เที่ยวไปดวงเดียว ไม่มีรูปร่าง อาศัยอยู่ในถ้ำคือร่างกาย และจิตนี้เป็นธรรมชาติที่วิจิตรและทำสิ่งอื่นๆ ให้วิจิตรด้วย กล่าวโดยชื่อจิตนี้ มี ๑๐ คือจิต มโน มานัส หทัย ปัณฑระ มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ และมโนวิญญาณธาตุ อนึ่ง คำว่าจิต มโน วิญญาณ ดังนี้เป็นต้นโดยเนื้อความก็อันเดียวกันคือความรู้แจ้ง แต่ว่าโดยชาติเป็น ๓ อย่างคือ เป็นกุศล อกุศล และอัพยากฤต
ในคัมภีร์ธัมมสังคณี พระพุทธองค์จำแนกจิตตามหลักติกมาติกา ในหมวดจิตตุปปาทกัณฑ์ เรียกว่ากุสลติกะ เป็นต้นคือ กุศล อกุศล อัพยากตะ ติกะที่ ๑ หมวดกุศล คือสภาวธรรมที่เป็นกุศล ที่สัมปยุตตด้วยกุศลธรรม มีอโลภะ อโทส อโมหะ ติกะที่ ๒ หมวดอกุศล คือสภาวธรรมที่เป็นอกุศล เป็นจิตที่ประกอบด้วยอกุศลเจตสิกธรรม คือเจตสิกฝ่ายที่ไม่สวยงาม หรือเจตสิกฝ่ายชั่ว มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ติกะที่ ๓ อัพยากตะ คือสภาวธรรมที่ไม่ได้กระทำให้แจ้งโดยความเป็นกุศลและอกุศล แสดงโดยความเป็นอัพยากตะที่เป็นวิบากจิต และอัพยากตะที่เป็นกิริยาจิต ในคัมภีร์อัฏฐสาลินี กล่าวลักษณะของจิตเป็นต้นไว้ ๔ ประการ คือ จิตมีการรู้แจ้งอารมณ์ เป็นลักษณะ มีความเป็นหัวหน้าเป็นกิจ มีความเกี่ยวข้องกันสืบต่อกันเป็นปัจจุปัฏฐานคืออาการปรากฏ มีนามและรูป เป็นปทัฎฐานคือเหตุใกล้
จิตตามหลักปรมัตถธรรม มี ๔ ประเภท (๑) กามาวจรจิต (๒) รูปาวจรจิต (๓) อรูปาวจรจิต (๔) โลกุตตรจิต ในจิต ๔ ประเภทเหล่านี้ จำแนกตามหลักปรมัตถธรรม ได้ดังนี้ (๑) อกุศลจิต ๑๒ (๒) อเหตุกจิต ๑๘ (๓) กามาวจรโสภณจิต ๒๔ (๔) รูปาวจรจิต ๑๕ อรูปาวจรจิต ๑๒ และ (๕) โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ รวมเป็นจิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ โดยความเป็นกุศล อกุศล วิบากและกิริยา
Download |