หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาสุทธิพงษ์ สุทฺธิวํโส (หมื่นตาคำ)
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๑ ครั้ง
การวิเคราะห์ภิกขุปาฏิโมกข์ในฐานะเครื่องมือธำรงพระพุทธศาสนา
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาสุทธิพงษ์ สุทฺธิวํโส (หมื่นตาคำ) ข้อมูลวันที่ : ๑๔/๐๑/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาอดิเดช สติวโร
  สมิทธิพล เนตรนิมิตร
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

                 ดุษฎีนิพนธ์เรื่อง “การวิเคราะห์ภิกขุปาฏิโมกฺข์ในฐานะเครื่องมือธำรงพระพุทธศาสนา” ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาความเป็นมาและความสำคัญของภิกขุปาฏิโมกฺข์ในพระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษาการสืบทอดภิกขุปาฏิโมกฺข์ของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา และ (๓) วิเคราะห์ภิกขุปาฏิโมกข์ในฐานะเครื่องมือธำรงพระพุทธศาสนา

จากการศึกษาพบว่า ภิกขุปาฏิโมกฺข์ หรือ อาณาปาฏิโมกข์ ได้แก่ ประมวลสิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งขึ้นเป็นพุทธอาณา หรือคัมภีร์ที่รวมพระวินัย ๒๒๗ สิกขาบท, แบ่งเป็น ๗ หมวด คือ (๑) ปาราชิก (๒) สังฆาทิเสส (๓) อนิยต (๔) นิสสัคคียปาจิตตีย์ (๕) ปาจิตตีย์ (๖) ปาฏิเทสนียะและ(๗) เสขิยวัตร, สิกขาบทเหล่านี้มีผลต่อความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา, พระวิปัสสีพุทธเจ้า พระสิขีพุทธเจ้าและพระเวสสภูพุทธเจ้า แสดงธรรมโดยย่อและไม่บัญญัติสิกขาบทในภิกขุปาฏิโมกข์ เป็นเหตุให้ศาสนาของพระองค์ไม่ดำรงอยู่นาน, ส่วนพระกกุสันทพุทธเจ้า โกนาคมนพุทธเจ้าและพระกัสสปพุทธเจ้าแสดงธรรมโดยพิสดารและบัญญัติสิกขาบทในภิกขุปาฏิโมกข์เป็นเหตุทำให้ศาสนาของพระองค์ดำรงอยู่นาน, ภิกขุปาฏิโมขก์มีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนา คือ ก่อให้เกิดประโยชน์ ๑๐ ประการ, เป็นระเบียบของคณะสงฆ์,เป็นข้อปฏิบัติสำหรับผู้อยู่ในอริยวินัย, เป็นข้อปฏิบัติเพื่อส่งเสริมความประพฤติดีงามของคณะสงฆ์, เป็นข้อฝึกหัด (วินัย) คู่กับธรรม, เป็นข้อปฏิบัติเพื่อความบริสุทธิ์, เป็นข้อปฏิบัติเพื่อสร้างความองอาจในท่ามกลางสงฆ์และเป็นข้อปฏิบัติเพื่อนำสู่ความหลุดพ้นตามลำดับ

มีพุทธานุญาตให้ภิกษุแสดงภิกขุปากิโมกข์ ๒๒๗  สิกขาบทในท่ามกลางสงฆ์ทุกกึ่งเดือน หากภิกษุล่วงละเมิดย่อมต้องอาบัติตามสมควรแก่ความผิด คือ (๑) ปาราชิก ๔ สิกขาบท: ภิกษุต้องแล้วทำให้ขาดจากความเป็นภิกษุ (๒) สังฆาทิเสส ๑๓ สิกขาบท: ภิกษุต้องแล้วต้องอยู่ปริวาสกรรมตามวันที่ปกปิด (๓) อนิยต ๒ สิกขาบท: ภิกษุต้องแล้วให้กระทำคืนตามที่ละเมิดจริง (อาจเป็นปาราชิก สังฆาทิเสสหรือปาจิตตีย์) (๔)  นิสสัคคียปาจิตตีย์ ๓๐ สิกขาบท: ภิกษุต้องแล้วต้องสละวัตถุที่ครอบครอง (๕) ปาจิตตีย์ ๙๒ สิกขาบท: ภิกษุต้องแล้วต้องแสดงต่อหน้าภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง (๖) ปาฏิเทสนียะ ๔ สิกขาบท: ภิกษุต้องแล้วต้องแสดงคืนกับบุคคลที่ทำให้ต้องอาบัติ และ (๗) เสยิยวัตร ๗๕ สิกขาบท: ภิกษุละเมิดแล้วต้องแสดงต่อหน้าภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ภิกษุสืบต่อภิกษุปากิโมกข์ด้วย ๓ วิธี คือ (๑) การสำรวมระวังไม่ล่วงละเมิด (๒) การท่องจำและสั่งสอนแก่ภิกษุสงฆ์ และ (๓) การบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร

การสำรวมในภิกขุปาฏิโมกข์ช่วยธำรงพระพุทธศาสนา ๓ ด้าน คือ (๑) ความมั่นคงด้านศาสนบุคคล : ป้องกันไม่ให้ภิกษุล่วงละเมิดพระวินัยที่ทำให้ขาดจากความเป็นภิกษุ, ไม่ให้อยู่ที่อันตรายหรือมีภัย, รักษาพยาบาลภิกษุอาพาธ, ห้ามปกป้องและคบหาภิกษุผู้ทุศีล, ปกป้องภิกษุมีศีลไม่ให้ถูกรบกวนหรือใส่ร้าย, ห้ามทำให้สงฆ์แตกสามัคคีกัน, ให้อุปสมบทแก่ชายที่มีอายุ ๒๐ ปีขึ้นไป, ปฏิบัติต่อนักบวชนอกศาสนาด้วยความระมัดระวัง,และห้ามอยู่ในที่ลับหู-ลับตาที่อาจทำให้คนเข้าใจผิด (๒) ความมั่นคงด้านศาสนธรรม : ห้ามภิกษุคัดค้านการแสดงภิกขุปาฏิโมกข์, กำหนดวิธีแสดงธรรมแก่ภิกษุณีและสตรีอย่างเหมาะสม, ห้ามแสงกิริยาไม่เคารพพระธรรมวินัย, และแสดงธรรมแก่บุคคลต่างๆ ด้วยโดยคำนึงถึงกาลเทศะและอากัปกิริยาของผู้ฟัง (๓) ความมั่นคงด้านศาสนสถาน : กำหนดให้สร้างเสนาสนะให้เหมาะแก่การพักอาศัย ไม่ใหญ่โตหรูหราเกินไป ใช้วัสดุอุปกรณ์ ประดับตกแต่ง ทาสีที่เหมาะแก่สมณสารูป, จัดเตียง ตั่ง เสื่อ ที่นั่งและที่นอนให้เพียงพอ และจัดให้ภิกษุเข้าพักอย่างยุติธรรม ห้ามหวงที่พักหรือจัดให้ภิกษุเข้าพักด้วยความลำเอียง

Download 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕