หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาสมชาย ธมฺมวโร (เต้าประเสริฐ)
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๐ ครั้ง
แนวทางการประยุกต์หลักธรรมของพระเจ้าจักรพรรดิเพื่อพัฒนาสังคม
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาสมชาย ธมฺมวโร (เต้าประเสริฐ) ข้อมูลวันที่ : ๑๔/๐๑/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี (เหมประไพ)
  พระมหาทวี มหาปญฺโญ
  สมิทธิพล เนตรนิมิตร
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

ดุษฎีนิพนธ์เรื่อง “แนวทางการประยุกต์หลักธรรมของพระเจ้าจักรพรรดิเพื่อพัฒนาสังคม” นี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาความเป็นมาและบทบาทของพระเจ้าจักรพรรดิในคัมภีร์พระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษาหลักธรรมของพระเจ้าจักรพรรดิในคัมภีร์พระพุทธ ศาสนา และ (๓) เพื่อเสนอแนวทางประยุกต์หลักธรรมของพระเจ้าจักรพรรดิเพื่อพัฒนาสังคม งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร

             ผลการวิจัยพบว่า พระเจ้าจักรพรรดิ หมายถึง พระราชาผู้มีพระบรมเดชานุภาพยิ่งใหญ่กว่าพระราชาทั้งหลาย มีรัตนะ ๗ ประการ (มีจักรแก้วเป็นต้น) เป็นของวิเศษคู่บารมี พระเจ้าจักรพรรดิในคัมภีร์พระพุทธศาสนามี ๓ ประเภท คือ (๑) พระเจ้าจักรพรรดิในจักรวาล (จกฺกวาล จกฺกวตฺตี) (๒) พระเจ้าจักรพรรดิในทวีป (ทีปจกฺกวตฺตี) และ (๓) พระเจ้าจักรพรรดิในประเทศ (ปเทสจกฺกวตฺตี) พระเจ้าจักรพรรดิจะไม่เกิดพร้อมกัน ๒ พระองค์ พระวรกายสมบูรณ์ด้วยมหา       ปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยธรรม มีฐานะสูงกว่ามนุษย์ทั่วไป แต่มีฐานะต่ำกว่าพระพุทธเจ้า เรื่องราวของพระเจ้าจักรพรรดิพบได้ในพระสูตรเกือบ ๒๐ สูตรและพบคำอธิบายมากในคัมภีร์อรรถกถา พระเจ้าจักรพรรดิมีบทบาทน่าสนใจเพราะเกี่ยวข้องทั้งด้านปกครองบ้านเมืองและด้านศาสนา จึงมีการนำบทบาทมาเปรียบเทียบกับพระพุทธเจ้าและอรหันต์สาวกหลายรูปมีพระอานนท์เป็นต้น

             หลักธรรมของพระเจ้าจักรพรรดิในคัมภีร์พระพุทธศาสนามีหลายหมวด ได้แก่ ทาน ศีล (เบญจศีล, อุโบสถศีล) กุศลกรรมบถ สัญญมะ ทมะ ฌานสมาบัติ พรหมวิหารภาวนา เนกขัมมปฏิปทา จักกวัตติวัตร ราชสังคหวัตถุ ขัตติยพละ ทศพิธราชธรรม จักกวัตติธรรม อัจฉริยธรรม และอาวาส   สัปปายะ หลักธรรมเหล่านี้สามารถจำแนกออกเป็น ๖ ด้าน คือ (๑) หลักธรรมสำหรับพัฒนาชีวิต (๒) หลักธรรมสำหรับดูแลครอบครัว (๓) หลักธรรมสำหรับปกครองบ้านเมือง (๔) หลักธรรมสำหรับพัฒนาเศรษฐกิจ (๕) หลักธรรมสำหรับคุ้มครองสัตว์และสิ่งแวดล้อม และ (๖) หลักธรรมสำหรับอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนา  

 

             สามารถประยุกต์หลักธรรมของพระเจ้าจักรพรรดิในคัมภีร์พระพุทธศาสนามาเป็นแนว ทางพัฒนาสังคม ๖ ด้าน คือ (๑) ด้านการพัฒนาชีวิต : มนุษย์ควรพัฒนาตน ๓ ด้าน คือ มีใจเสียสละ พร้อมช่วยเหลือสังคม ให้ความช่วยเหลือคนอื่นด้วยสิ่งของและคำแนะนำที่ดี (ทาน) พัฒนาพฤติกรรมให้เป็นคนมีระเบียบวินัย (ศีล) และ พัฒนาปัญญาให้เป็นคนรู้จักวินิจฉัยด้วยเหตุผล (ภาวนา) (๒) ด้านการดูแลครอบครัว : ดูแลมารดาบิดาให้มีความสุขทั้งทางกายและใจ ดูแลภรรยาและบุตรธิดาด้วยการแนะนำให้รักษาศีลปฏิบัติธรรม ยกย่อง ให้เกียรติ รักษาน้ำใจด้วยการให้ผ้า ของหอมและดอกไม้ เลี้ยงดูให้มีความสุขตามฐานะ และป้องกันภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้น (๓) ด้านการปกครองบ้านเมือง : ปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาทุกระดับด้วยธรรม จัดให้มีข้าราชการแผนกต่างๆ คอยช่วยบริหารบ้านเมือง มอบรางวัลเพื่อเป็นกำลังใจ ให้เกียรติผู้ใต้ปกครอง ไม่ข่มเหงรังแก รับฟังความคิดเห็นแล้วนำมาปรับปรุงการบริหารบ้านเมือง ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการดูแลสังคมตามความสามารถ (๔) ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ : ให้ทรัพย์เป็นทุนแก่คนทุกระดับ ทั้งที่อยู่ในเมืองและชนบท เพื่อใช้เลี้ยงชีพ เลี้ยงดูพ่อแม่ บุตรภรรยา ทำทุนประกอบอาชีพ และทำบุญในศาสนา ส่งเสริมผู้มีความรู้ด้านเกษตร เพื่อให้ผลิตธัญพืชที่คนส่วนมากบริโภคเป็นอาหาร (๕) ด้านการคุ้มครองสัตว์และสิ่งแวดล้อม : คุ้มครองสัตว์ชนิดต่างๆ ด้วยการห้ามคนล่า จัดหาแหล่งอาหารให้อย่างเพียงพอและจัดให้อยู่ในป่าที่มีอาหารและสิ่งแวดล้อมอุดมสมบูรณ์ และ (๖) ด้านการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนา : สนับสนุนการศึกษาและปฏิบัติธรรมของภิกษุผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เข้าไปสอบถามปัญหา ขอรับคำแนะนำ ศึกษารู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมเพื่อขัดเกลาจิตใจ เมื่อมีโอกาสก็สั่งสอนธรรมแก่คนใกล้ตัวและประชาชน ในบั้นปลายชีวิตอุทิศตนเพื่อศึกษาความจริงของชีวิต อุทิศตนเป็นที่ปรึกษาและช่วยทำกิจที่เป็นประโยชน์แก่สังคมตามความสามารถ

 Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕