ดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาคำสอนเรื่องอริยวังสปฏิปทาในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาหลักการปฏิบัติอริยวังสปฏิปทาในคัมภีร์พระพุทธศาสนา และ ๓) เพื่อวิเคราะห์แนวทางการบำเพ็ญอริยวังสปฏิปทาในคัมภีร์พระพุทธศาสนา
ผลการวิจัยพบว่า อริยวังสปฏิปทา ได้แก่ ข้อปฏิบัติอันเป็นวงศ์ของพระอริยเจ้า ๓ ประเภท คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระอนุพุทธเจ้า อริยวังสปฏิปทาเป็นข้อปฏิบัติว่าด้วยความสันโดษ ๔ อย่าง คือ (๑) ความสันโดษด้วยจีวร (๒) ความสันโดษด้วยบิณฑบาต (๓) ความสันโดษด้วยเสนาสนะ และ (๔) ความยินดีในการเจริญกุศลและละอกุศล หรือ ความยินดีด้วยภาวนา ปฏิปทา ๔ ข้อนี้เป็นที่รู้กันว่าเลิศ รู้กันมานาน รู้กันว่าเป็นอริยวงศ์ เป็นของเก่าไม่ถูกลบล้างทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต และไม่ถูกสมณพราหมณ์ผู้รู้คัดค้าน หลักธรรมที่เป็นพื้นฐานของอริยวังสปฏิปทา ได้แก่ อามิสทานและธรรมทาน ความสันโดษ ปาริสุทธิศีล ๔ การเว้นอเนสนา การเว้นบุคคลและสถานที่อโคจร และ การพิจารณาตระกูลที่ควรเข้าไปนั่งใกล้และไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้
หลักการบำเพ็ญอริยวังสปฏิปทาในพระพุทธศาสนาแบ่งเป็น ๒ ขั้นตอน คือ ชั้นตอนที่ ๑ คือ การบริโภคปัจจัยเท่าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของภิกษุในภาวะปกติ ได้แก่ การใช้สอยจีวรด้วยความสันโดษ การบริโภคอาหารบิณฑบาตด้วยความสันโดษ การใช้สอยเสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย) ด้วยความสันโดษ และ ชั้นตอนที่ ๒ คือ การฝักหัดพัฒนาตนเพื่อเจริญกุศลและละอกุศลอันจะนำตนสู่ความเป็นผู้ประเสริฐ หรือ พัฒนาตนสู่ความเป็นพระอริยเจ้าตามลำดับ แสดงให้เห็นภาพรวมวิถีชีวิตของพระสงฆ์ใน ๒ ด้าน คือ ในตอนดำรงเพศเป็นภิกษุอยู่นี้ก็ให้พึ่งพาอาศัยปัจจัย ๔ เท่าที่จำเป็น ไม่ให้มีมากจนเป็นการพอกพูนส่งเสริมกิเลสและเบียดเบียนคฤหัสถ์ ไม่ให้มีน้อยจนทำให้ตนใช้ชีวิตด้วยความขาดแคลน หากแต่ให้มีอย่างเพียงพอต่อการรักษาชีวิตให้มีเวลาและมีเรี่ยวแรงศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าประกาศไว้
วิเคราะห์แนวทางการบำเพ็ญอริยวังสปฏิปทาในพระพุทธศาสนา สรุปได้ ๔ ประการ คือ (๑) สันโดษด้วยจีวร : ภิกษุผู้สันโดษด้วยจีวรต้องใช้ผ้าตามหลักธุดงค์หมวดจีวรปฏิสังยุต ๒ ข้อ คือ ๑) ปังสุกูลิกังคธุดงค์ (ถือผ้าบังสุกุลจีวรเป็นวัตร) ๒) เตจีวริกังคธุดงค์ ถือการใช้ผ้าไตรจีวรเป็นวัตร (๒) สันโดษด้วยบิณฑบาต : ภิกษุผู้สันโดษด้วยอาหารบิณฑบาตต้องบริโภคอาหารบิณฑบาตตามหลักธุดงค์หมวดโภชนปฏิสังยุต ๕ ข้อ คือ ๑) ปิณฑปาติกังคะ (ถือบิณฑบาตเป็นวัตร) ๒) สปทานจาริกังคะ (ถือการบิณฑบาตตามลำดับบ้านเป็นวัตร) ๓) เอกาสนิกังคะ (ถือการฉันในอาสนะเดียวเป็นวัตร) ๔) ปัตตปิณฑิกังคะ (ถือการฉันในบาตรเป็นวัตร) และ ๕) ขลุปัจฉาภัตติกังคะ (ถือการห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร) (๓) สันโดษด้วยเสนาสนะ : ภิกษุผู้สันโดษด้วยเสนาสนะต้องอาศัยอยู่ในเสนาสนะตามหลักธุดงค์หมวดเสนาสนปฏิสังยุต ๖ ข้อ คือ ๑) อารัญญิกังคะ (ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร) ๒) รุกข- มูลิกังคะ (ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร) ๓) อัพโพภาสิกังคะ (ถือการอยู่กลางแจ้งเป็นวัตร) ๔) โสสานิกังคะ (ถือการอยู่ในป่าช้าเป็นวัตร) ๕) ยถาสันถติกังคะ (ถือการอยู่ในเสนาสนะที่เขาจัดไว้ให้เป็นวัตร) และ ๖) เนสัชชิกังคะ (ถือการนั่งเป็นวัตร) งดเว้นการนอน จะอยู่ด้วย ๓ อิริยาบถ ยืน เดินและนั่งเท่านั้น (๔) ยินดีในการเจริญกุศลและละอกุศล : ปฏิปทาข้อนี้ ได้แก่ การปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมตามหลัก โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ได้แก่หลักธรรม ๗ หมวด คือ ๑) สติปัฏฐาน ๔, ๒) สัมมัปปธาน ๔, ๓) อิทธิบาท ๔, ๔) อินทรีย์ ๕, ๕) พละ ๕, ๖) โพชฌงค์ ๗ และ ๗) มรรคมีองค์ ๘ ภิกษุผู้บำเพ็ญอริยวังสปฏิปทาอย่างสมบูรณ์ย่อมมีชีวิตเรียบง่าย สงบ งดงาม เนื่องจากถือหลักสันโดษด้วยปัจจัยเครื่องดำรงชีพ และจะสามารถพัฒนาตนสู่ความเป็นพระอริยเจ้าได้ในที่สุด เนื่องจากเป็นผู้ปฏิบัติตนตามหลักโพธิปักขิยธรรมซึ่งเป็นธรรมที่เป็นฝักฝ่ายแห่งการบรรลุธรรม
Dowload
|