วิทยานิพนธ์นี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาวิเคราะห์ความเชื่อเกี่ยวกับพระภูมิเจ้าที่ของชาวไทยพุทธในตำบลคลองแห อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ ๑) เพื่อศึกษาความเชื่อของชาวไทยพุทธที่มีต่อคำสอนทางพระพุทธศาสนา, ๒) เพื่อศึกษาความเชื่อเกี่ยวกับพระภูมิเจ้าที่ของชาวไทยพุทธในตำบลคลองแห อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา, ๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์ความเชื่อเกี่ยวกับพระภูมิเจ้าที่ของชาวไทยพุทธในตำบลคลองแห อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เน้นศึกษาค้นคว้าจากเอกสาร โดยสำรวจข้อมูลชั้นปฐมภูมิจากพระไตรปิฎก สำรวจข้อมูลจากตำราวิชาการ เอกสาร งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และจากการสัมภาษณ์
ผลการวิจัยพบว่า ชาวไทยพุทธ ในตำบลคลองแห อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีความเชื่อว่าพระภูมิเจ้าที่ คือ เทพารักษ์ประจำสถานที่ต่างๆ เช่น ผืนดิน แผ่นน้ำ ท้องฟ้า และสถานที่ๆ มนุษย์สร้างขึ้น และเชื่อว่าพระภูมิเจ้าที่สามารถดลบันดาลให้เกิดความก้าวหน้ายังประโยชน์สุขแก่ผู้อยู่อาศัยและผู้ประกอบกิจการในสถานที่นั้นๆ ตามหลักพระพุทธศาสนา พระภูมิเจ้าที่จัดอยู่ในจำพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาในสวรรค์ซึ่งเป็นสุคติภูมิในระดับกามภูมิเช่นเดียวกับโลกมนุษย์ พระพุทธศาสนาจึงมีคำสอนเรื่องเทวตานุสสติ อันเป็นการระลึกถึงเทวดา คือ การน้อมจิตระลึกถึงเทวดาทั้งหลายที่ตนเคยรู้และพิจารณาเห็นคุณธรรมอันทำบุคคลให้เป็นเทวดานั้นๆ ตามที่อยู่ในตน มนุษย์ควรพยายามปฏิบัติตามแบบอย่างที่เทวดาหรือพระภูมิเจ้าที่ในฐานะที่เป็นผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตมาก่อนด้วยการพยายามทำจิตใจของตนให้สะอาด สงบ และสว่างด้วยทาน ศีล สมาธิและปัญญา แต่การได้เกิดเป็นเทวดาก็ยังไม่พ้นทุกข์ทีเดียว ถึงแม้ว่าจะเป็นความสุขอันเป็นทิพย์ก็ไม่ยั่งยืน ต่อเมื่อได้บรรลุพระนิพพานจึงพ้นทุกข์โดยสมบูรณ์และยั่งยืนได้ พระพุทธเจ้าตรัสเตือนพุทธบริษัททั้งหลายของพระองค์ให้พึ่งตนเองและไม่ให้แสวงหาที่พึ่งอื่นภายนอกเพราะมนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในตัวเอง มีพลังที่จะปลดเปลื้องตนเองจากความทุกข์ทั้งมวลโดยอาศัยความเพียรและสติปัญญาอันเป็นส่วนเฉพาะตนได้
ความเชื่อพระภูมิเจ้าที่ในสังคมปัจจุบันของชาวไทยพุทธ ในตำบลคลองแห อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ยังมีอิทธิพลอย่างสูง ตราบเท่าที่ชาวไทยพุทธ ในตำบลคลองแห อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ยังมีความเชื่อเช่นนั้นอยู่ ตามความเชื่อเดิมของบรรพบุรุษนับแต่ครั้งโบราณ ทั้งนี้หากคณะสงฆ์นำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา เช่น กฎแห่งกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด มาสอนให้ชาวไทยพุทธได้รู้และเข้าใจในวิธีการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องแล้วจะเป็นการช่วยให้ชาวไทยพุทธเกิดความรู้ สามารถที่จะดำเนินชีวิตอย่างมีความสงบสุขด้วยปัญญามากกว่าศรัทธาได้
สรุป ในพระพุทธศาสนา เน้นในเรื่องการเห็น การรู้ การเข้าใจ หาได้เน้นในเรื่องศรัทธาหรือความเชื่อไม่ ดังนั้น ความเชื่อตามทัศนะพระพุทธศาสนามีอยู่ ๒ ประเภท ได้แก่
๑) ความเชื่อที่ไม่มีปัญญาประกอบ มักเป็นความเชื่อที่งมงาย ไม่อาจพ้นทุกข์ได้ (สัทธาญานวิปยุต)
๒) ความเชื่อที่มีปัญญาประกอบ สามารถทำให้พ้นทุกข์ได้ ซึ่งความเชื่อประเภทนี้จัดเป็นจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา (สัทธาญานสัมปยุต)
Download |