การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) ศึกษาสภาพการบริหารจัดการโรงเรียนวิถีพุทธ ในโรงเรียนสังกัดเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต ๒ ตามหลักไตรสิกขา ๒) เปรียบเทียบความคิดเห็นที่มีต่อการบริหารจัดการโรงเรียนวิถีพุทธในโรงเรียนสังกัดเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต ๒ ตามหลักไตรสิกขา จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และ ๓) เสนอแนะแนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนวิถีพุทธในโรงเรียนสังกัดเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต ๒ ตามหลักไตรสิกขา การศึกษาวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า ๕ ระดับ ซึ่งได้รับการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน ๕ ท่าน และนำแบบสอบถามไปทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่าง จำนวน ๓๐ คน หาค่าความเชื่อมั่นตามวิธีการของครอนบัคจากค่าสัมประสิทธิ์แอลฟา ได้ค่าความเชื่อมั่นของคำถาม รวมทั้งฉบับเท่ากับ ๐.๙๖๔ หลังจากนั้นเก็บรวบรวมข้อมูลกับประชากรโรงเรียนวิถีพุทธในจังหวัดอุทัยธานี สังกัดเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต ๒ จำนวน ๒๐๔ คน ประกอบด้วย ๑) ผู้บริหารสถานศึกษา ๒) ครูผู้สอน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ เพื่อคำนวณหาความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ทดสอบสมมติฐานด้วยการทดสอบค่าที (T – test) และการทดสอบค่าเอฟ (F – test) ด้วยวิธีการวิเคราะห์ ความแปรปรวนทางเดียว (One Way ANOVA) ในกรณีตัวแปรต้นตั้งแต่สามกลุ่มขึ้นไป เมื่อพบว่ามีความแตกต่างจะทำการเปรียบเทียบความแตกต่างรายคู่ด้วยวิธีการ (L.S.D) โดยกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ ๐.๐๕
ผลการวิจัยพบว่า
๑. สภาพการบริหารจัดการโรงเรียนวิถีพุทธในโรงเรียนสังกัดเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต ๒ ตามหลักไตรสิกขา โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ซึ่งมีค่าเฉลี่ย ๓.๗๓ และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า คาเฉลี่ยอยู่ในระดับมากทุกด้าน เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย อันดับ คือ ด้านกิจกรรมพื้นฐานชีวิตตามหลักไตรสิกขา ด้านบรรยากาศและปฏิสัมพันธ์ตามหลักไตรสิกขา ด้านกายภาพตามหลักไตรสิกขา ด้านการเรียนการสอนตามหลักไตรสิกขา และด้านการบริหารจัดการตามหลักไตรสิกขา
๒. ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นที่มีต่อการบริหารจัดการโรงเรียนวิถีพุทธในโรงเรียนสังกัดเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต ๒ ตามหลักไตรสิกขา จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ตามความคิดเห็นของผู้บริหารและครู พบว่า ผู้บริหาร ครู ที่มีเพศ อายุ ระดับการศึกษา และประสบการการทำงานต่างกัน มีความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการโรงเรียนวิถีพุทธในโรงเรียนสังกัดเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต ๒ ตามหลักไตรสิกขา โดยภาพรวม ไม่แตกต่างกัน
๓. เสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนวิถีพุทธในโรงเรียนสังกัดเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต ๒ ตามหลักไตรสิกขา คือ โรงเรียนระบบปกติทั่วไปที่นำหลักธรรมพระพุทธศาสนามาใช้หรือประยุกต์ใช้ในการบริหารและการพัฒนาผู้เรียน โดยรวมของสถานศึกษา เน้นกรอบการพัฒนาตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างบูรณาการ ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านการพัฒนา “การกินอยู่ ดู ฟัง เป็น” คือ มีปัญญารู้เข้าใจในทางคุณค่าแท้ใช้กระบวนการทางวัฒนธรรมแสวงปัญญา และมีวัฒนธรรมเมตตา เป็นฐานการดำเนินชีวิตโดยมีผู้บริหารและคณะครูเป็นกัลยาณมิตรการพัฒนาและเน้นการจัดสภาพทุกๆ ด้านเพื่อสนับสนุนให้ผู้เรียนพัฒนาตามหลักพุทธธรรมอย่างบูรณาการ
Download |