การวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาสภาพการบริหารงานวิชาการตามหลัก ธรรมาภิบาลในโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็ก จังหวัดนครสวรรค์ ๒) เพื่อเปรียบเทียบสภาพ การบริหารงานวิชาการตามหลักธรรมาภิบาลในโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็ก จังหวัดนครสวรรค์ ตามปัจจัยส่วนบุคคล ๓) เพื่อนำเสนอแนวทางการบริหารงานวิชาการตามหลักธรรมาภิบาล ในโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็ก จังหวัดนครสวรรค์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษาและครูจำนวน ๑๗๕ คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม (Questionnaire) และแบบสัมภาษณ์ (Interview Form) สถิติที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Arithmetic Mean) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) การแจกแจงแบบที (t-test) และค่าความแปรปรวนทางเดียว (One Way ANOVA) และสรุปวิเคราะห์ข้อมูล ดังนี้
ผลการวิจัยพบว่า
๑.สภาพการบริหารงานวิชาการตามหลักธรรมาภิบาลในโรงเรียนมัธยมศึกษา ขนาดเล็ก จังหวัดนครสวรรค์ โดยรวมอยู่ในระดับมาก และพิจารณาเป็นรายด้านอยู่ในระดับมากตามลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย คือ ด้านการจัดการเรียนการสอน ด้านการบริหารงานหลักสูตรด้านการวัดและประเมินผล และด้านการนิเทศภายในสถานศึกษา ส่วนด้านที่ผู้ตอบแบบสอบถาม มีความคิดเห็นค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ด้านการพัฒนาบุคลากรทางวิชาการ
๒.เปรียบเทียบสภาพการบริหารงานวิชาการตามหลักธรรมาภิบาลในโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็ก จังหวัดนครสวรรค์ โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคลของผู้บริหารสถานศึกษาและครู พบว่า เพศ อายุ ระดับการศึกษา ตำแหน่ง และประสบการณ์ ที่ต่างกัน มีความคิดเห็น แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จึงปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้
๓.แนวทางการบริหารงานวิชาการตามหลักธรรมาภิบาลในโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็ก จังหวัดนครสวรรค์ การบริหารสถานศึกษามีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการใช้หลักธรรมาภิบาลมาเป็นกรอบแนวทางในการบริหารจัดการระบบงานวิชาการ ทั้งนี้เพราะการบริหารงานต้องยึดหลักการ มีส่วนร่วมและความเสมอภาค เพื่อให้งานมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และตอบสนองความต้องการ ของทุกฝ่าย ผู้บริหารสถานศึกษาและครูต้องมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ทำงานอย่างโปร่งใส มอบหมายงานตามความสามารถหรือความถนัดของแต่ละคน โดยยึดระเบียบข้อบังคับ และการบริหารจัดการอย่างกัลยาณมิตรมุ่งเน้นฉันทามติ จึงจะทำให้องค์กร มีความเจริญสืบต่อไป
Download
|