วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดและหลักการปฏิบัติธุดงควัตรในพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาแนวคิดการปฏิบัติธุดงควัตรของพระเถระในสังคมไทย และ ๓) เพื่อนำเสนอรูปแบบการปฏิบัติธุดงควัตรในสังคมไทย วิธีการศึกษาในครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาเชิงเอกสาร โดยศึกษาข้อมูลจากพระไตรปิฎก เอกสาร ตำรา สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และหนังสือที่รวบรวมเกี่ยวกับหลักของการปฏิบัติ และงานเขียนต่าง ๆ ตลอดทั้งการสัมภาษณ์ และสังเกตการณ์ นำมาวิเคราะห์สังเคราะห์เพื่อให้ได้เนื้อหาสอดคล้องตามลำดับของงานวิจัย
ผลจากการวิจัยพบว่า แนวคิดและหลักการปฏิบัติธุดงควัตรในพระพุทธศาสนานั้น คำว่า ธุดงค์ แปลตามตัว หมายถึง องค์คุณเครื่องกำจัดกิเลส ประกอบด้วยข้อวัตรปฏิบัติ ๑๓ ข้อ เรียกว่า ธุดงควัตร ๑๓ ซึ่งผู้ที่ปฏิบัติสามารถเลือกปฏิบัติข้อใดข้อหนึ่งได้ตามความสมัครใจ และไม่จำเป็นต้องปฏิบัติให้ครบทุกข้อ เพราะการปฏิบัติขึ้นอยู่กับบุญบารมี ความอดทน และความเพียร เช่น การถือปฏิบัติข้ออรัญญิกังคะ (อยู่ป่า) และโสสานิกังคะ (อยู่ป่าช้า) เพราะธุดงค์เป็นแนวทางเอื้อให้ผู้ปฏิบัติได้มีความวิเวกปราศจากความวุ่นวาย มุ่งต่อการปฏิบัติธรรมเพื่อขัดเกลากิเลสภายในของแต่ละบุคคล
ในปัจจุบันนี้ ธุดงควัตรได้แพร่ไปยังสำนักต่าง ๆ และมีพระสงฆ์ถือปฏิบัติตามกันมาเป็นกระบวนการจนถึงยุคปัจจุบัน พระสงฆ์ในสังคมไทยที่ปรากฏเด่นชัดในหลักของการปฏิบัติธุดงควัตร ประกอบด้วย (๑) พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต (๒) หลวงปู่ดูลย์ อตุโล (๓) พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน และ (๔) ท่านพ่อลี ธมฺมธโร เป็นต้น ได้ถือปฏิบัติธุดงควัตรมาเป็นประจำไม่ลดละ การปฏิบัติธุดงค์ จึงเป็นการทวนกระแสเข้าสู่วิถีเดิมของการปฏิบัติ เนื่องจากอัครสาวกในพุทธกาลไม่ว่าพระมหากัส-สปะเถระ พระอุปเสนเถระและท่านอื่น ๆ อีกหลายรูปที่ได้ดำเนินตามแนวทางพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่างบรรลุผลในการปฏิบัติก็มาก และการปฏิบัติธุดงค์ยังให้อานิสงส์ต่อผู้ที่ปฏิบัติ ช่วยให้ผู้ที่ปฏิบัติพัฒนาทางด้านจิตใจ พัฒนาทางด้านปัญญาญาณ และสะท้อนออกมาในรูปของพฤติกรรมที่ดูเป็นที่ น่าเลื่อมใส
ส่วนรูปแบบการปฏิบัติธุดงควัตรในสังคมไทยในปัจจุบัน มีกระบวนการฝึกอบรมตามหลักธุดงควัตร ๑๓ ข้อ แต่ใน ๓ สำนักนี้ไม่ได้ปฏิบัติตามทั้ง ๑๓ ข้อ กล่าวคือ หลวงพ่อชา สุภทฺโท มีรูปแบบการปฏิบัติธุดงควัตร ๖ ข้อ คือ (๑) การใช้ผ้าเพียง ๓ ผืน (๒) เที่ยวบิณฑบาตเป็นประจำ (๓) บิณฑบาตไปตามลำดับแถว (๔) นั่งฉันในอาสนะเดียว (๕) ฉันเฉพาะในบาตร (๖) เมื่อฉันแล้วจะไม่รับอาหารที่นำมาถวายในภายหลัง, ส่วนพระอาจารย์จรัญ อนงฺคโณ มีรูปแบบการปฏิบัติธุดงควัตร ๖ ข้อ คือ (๑) ยินดีเฉพาะในการบิณฑบาตเท่านั้น ไม่ยินดีในกิจนิมนต์ (๒) เดินไปเป็นแถวไม่โลเลในการเดิน ระหว่างการบิณฑบาต (๓) ฉันในที่นั่งเดียว ห้ามลุกออกจากอาสนะจนกว่าจะอิ่ม ถ้าลุกถือว่าขาดจากการสมาทาน (๔) ฉันเฉพาะอาหารที่ใส่ไปในบาตร ไม่ว่าจะเป็นของหวานหรือของคาวก็ตาม (๕) เมื่อได้อาหารเพียงพอต่อการขบฉันแล้ว จะไม่รับอาหารอื่นที่นำมาถวายเมื่อภายหลัง (๖) ไม่อยู่ตามใจกิเลสของตนเอง แต่พึงยินดีในเสนาสนะที่เขาจัดเตรียมให้ ส่วนรูปการปฏิบัติธุดงควัตรของ วัดพระธรรมกาย ปฏิบัติธุดงควัตรเพียง ๒ ข้อ เท่านั้น กล่าวคือ (๑) ถือการอยู่ในเสนาสนะที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ให้ โดยไม่เลือกว่าสะดวกหรือสบาย (๒) ถือการฉันอาสานะเดียวเป็นวัตร คือ ในแต่ละวันจะฉันอาหารเช้าเพียงเวลาเดียวเท่านั้น ธุดงควัตรที่กล่าวมาของแต่ละสำนัก สามารถใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติและใช้เป็นแนวทางในการสั่งสอนพระภิกษุสามเณรที่บวชเข้ามาในพุทธศาสนา โดยการสมาทานถือปฏิบัติได้ ซึ่งเป็นข้อวัตรที่ต้องเลือกสมาทานแล้วปฏิบัติตามกำลังศรัทธา เป็นต้น
Download |