ดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาปัญหาและการพัฒนาวิถีชีวิตชาวนาไทยตามบทบาทของสภาเกษตรกรแห่งชาติ (๒) เพื่อศึกษาวิถีชีวิตชาวนาและหลักพุทธธรรมในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท (๓) เพื่อพุทธบูรณาการเพื่อการพัฒนาวิถีชีวิตชาวนาไทยตามบทบาทของสภาเกษตรกรแห่งชาติ อันจะเป็นข้อมูลนำเสนอเป็นวิทยานิพนธ์ที่เป็นองค์ความรู้ทางพระพุทธศาสนา เป็นการวิจัยเชิงเอกสารและสัมภาษณ์บุคคลเป็นหลัก
ผลการวิจัยพบว่า ในการทำนานั้นมีหลายปัญหาที่สำคัญแบ่งเป็น ปัญหาภายนอก เช่น ปัญหาความยากจน ที่ดินทำกิน หนี้สินเป็นต้น และปัญหาภายใน คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในตัวของชาวนาเอง เช่น การที่ชาวนาไม่รู้จักตนเอง หรือไม่ปฏิบัติตนให้พ้นจากความยากจนเป็นต้น ปัญหาเหล่านี้ต้องได้รับการแก้ไขจากภาครัฐเพื่อให้คุณภาพชีวิตของชาวนามั่นคงและยั่งยืน เพราะชาวนามีความสำคัญและทำประโยชน์นานัปการต่อประเทศชาติ โดยสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศ สร้างรายได้ให้กับแผ่นดิน รัฐบาลจึงตระหนักถึงความสำคัญของชาวนาเป็นอย่างมาก เพราะถือว่าทุกข์ของชาวนาคือ ทุกข์ของแผ่นดิน ดังนั้น จึงได้ดำเนินการหลายๆ อย่างทั้งทางตรงทางอ้อม เพื่อให้ชาวนามีรายได้มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีที่นาเป็นของตนเอง โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ยกร่างพระราชบัญญัติสภาเกษตรแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นกฎหมาย ที่ให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพในการคุ้มครอง รักษาผลประโยชน์เกี่ยวกับการผลิตของเกษตรกรได้รับผลตอบแทนสูงสุด ส่วนชาวนามีการเปลี่ยนแปลงไปตามกระบวนการพัฒนาทางสังคมจากสังคมดั้งเดิมสู่การเป็นสังคมที่เจริญพร้อมด้วยความเป็นสมัยใหม่
Download |