หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » เสริมสุข วิจารณ์สถิตย์
 
เข้าชม : ๒๐๐๓๑ ครั้ง
พัฒนาการของกำเนิดมนุษย์ในครรภ์เชิงเปรียบเทียบ ทรรศนะทางพุทธศาสนาและสูติศาสตร์
ชื่อผู้วิจัย : เสริมสุข วิจารณ์สถิตย์ ข้อมูลวันที่ : ๐๕/๐๒/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชปริยัติมุนี (เทียบ สิริญาโณ)
  แม่ชีกฤษณา รักษาโฉม
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

ดุษฎีนิพนธ์เล่มนี้ ศึกษาเรื่อง พัฒนาการของกำเนิดมนุษย์ในครรภ์เชิงเปรียบเทียบทรรศนะทางพุทธศาสนาและสูติศาสตร์มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑. เพื่อศึกษาพัฒนาการของกำเนิดมนุษย์ในครรภ์ในพระพุทธศาสนา ๒. เพื่อศึกษาพัฒนาการของกำเนิดมนุษย์ในครรภ์ในสูติศาสตร์ ๓. เพื่อนำเสนอพัฒนาการของกำเนิดมนุษย์ในครรภ์เชิงเปรียบเทียบระหว่างพุทธศาสนาและสูติศาสตร์ โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึก

ผลการวิจัยพบว่า มนุษย์ประกอบด้วยกายและจิต กำเนิดมนุษย์ในยุคแรกทางพระพุทธศาสนาซึ่งถือกำเนิดแบบโอปปาติกะนั้นเป็นสิ่งที่ยังไม่มีเครื่องมือพิสูจน์ได้โดยอุปกรณ์ แนวคิดกำเนิดมนุษย์ยุคถัดมา (ชลาพุชะ) ในเรื่องขององค์ประกอบของการเกิดในครรภ์ในพระพุทธศาสนา คือ บิดามารดาอยู่ร่วมกัน และมารดามีระดูพร้อมที่จะมีครรภ์ได้ (อุตุนี) โดยเมื่อนำความรู้ทางสูติศาสตร์มาอธิบายทำให้เข้าใจเนื้อความในพระไตรปิฎกและอรรถกถาชัดเจนขึ้น สำหรับเรื่องของคันธัพพะ (ปฏิสนธิวิญญาณ) และเรื่องผลของกรรมจำแนกมนุษย์ให้แตกต่าง สูติศาสตร์ไม่ได้มีการศึกษาถึงประเด็นดังกล่าวนี้

การนับอายุครรภ์ทางสูติศาสตร์ เริ่มนับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย แต่สำหรับอายุทารกในครรภ์นั้น เริ่มนับเมื่อเกิดการปฏิสนธิของเซลล์ไข่และอสุจิ ทางพระพุทธศาสนาถือว่ากายมนุษย์เริ่มมีชีวิตในขณะที่เป็นกลละ การตั้งครรภ์ใช้ระยะเวลาประมาณ ๙ - ๑๐ เดือนทางจันทรคติ ประเด็นเรื่องบิดามารดาอยู่ร่วมกันครั้งเดียวมีขอบเขต ๗ วัน ความหมายของหญิงที่มีระดูพร้อมที่จะมีครรภ์ได้ (อุตุนี) และคำว่า ระดู (ปุปฺผ) อธิบายตามสูติศาสตร์ได้ว่า มารดาได้รับอสุจิจากบิดาในช่วงวันที่มีการตกไข่ โดยมีกลไก คือ ระดู (ปุปฺผ ) ที่เป็นเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญหนาขึ้นช่วงที่มีไข่ตกและหลังจากมีไข่ตกจะเจริญต่อไปอีกประมาณ ๗ วัน เพื่อรองรับการฝังตัวของไข่ที่ได้รับการผสมกับอสุจิ ซึ่งจะเกิดเป็นไซโกตในวันแรกและแบ่งตัวไปเรื่อย ๆ เป็นโมรูล่าจนถึงบลาสโตซิสต์ ประมาณวันที่ ๗ บลาสโตซิสต์จะฝังตัวที่ระดูหรือต่อมเลือดนั้น ขณะฝังตัวอาจทำให้เกิดเลือดเสียหรือเรียกว่าเลือดล้างหน้าเด็ก ซึ่งเลือดจะไหลออกไปเพียงเล็กน้อย จากนั้นเกิดการตั้งครรภ์ตามมา แต่หากเลือดล้างหน้าเด็กไหลออกมากเกินไปบลาสโตซิสต์ย่อมหลุดออกไปด้วยจึงไม่สามารถตั้งครรภ์ได้

กายมนุษย์เริ่มต้นที่เริ่มมีคันธัพพะหรือเรียกว่า กลละ คือ ตัวอ่อนมนุษย์บลาสโตซิสต์ในระยะฝังตัว (ตัวอ่อนวันที่ ๗ หลังจากปฏิสนธิ หรืออายุครรภ์ ๓ สัปดาห์) เนื่องด้วยเหตุผลของการอยู่ในครรภ์ (มดลูก) ไม่ว่าจะสร้างตัวอ่อนมนุษย์ด้วยวิธีใดก็ตาม เช่น ปฏิสนธิภายนอกร่างกายหรือการโคลน หากไม่ย้ายตัวอ่อนที่สร้างขึ้นนั้นกลับเข้าโพรงมดลูกก็ไม่สามารถเจริญเป็นมนุษย์ได้เลย จึงเป็นข้อยืนยันการเกิดแบบชลาพุชะได้อย่างดี และปัจจัยสนับสนุนอีกประการ คือ รูปร่างของกลละซึ่งมีลักษณะเป็นหยดน้ำใส เข้าได้กับตัวอ่อนบลาสโตซิสต์ขณะฝังตัว ซึ่งมีลักษณะคล้ายหยดน้ำใสเกาะที่เยื่อบุโพรงมดลูก รวมทั้งรากศัพท์ของกลละที่แปลว่าโคลนตม เข้าได้กับตัวอ่อนบลาสโตซิสต์ขณะฝังตัวที่จมลงสู่เยื่อบุโพรงมดลูกซึ่งมีลักษณะอ่อนนุ่มคล้ายโคลนตม กลละย่อมไม่ใช่ไซโกต เพราะไซโกต มีรูปร่างกลมตันไม่เหมือนหยดน้ำ และการแบ่งตัวของไซโกตได้เองเกิดจากพลังงานในเซลล์นั้น ๆ ทำให้แบ่งตัวได้โดยไม่ต้องมีคันธัพพะ คล้ายคุณสมบัติเซลล์ไซโกตพืช 

 Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕