ดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ในการศึกษา ๓ ข้อ คือ ๑) เพื่อศึกษาวิถีชีวิตและบริบททางสังคมของชาวไททรงดำ ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ๒) เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมของชาวไททรงดำ ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ๓) เพื่อเสนอแนวทางการอนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมเชิงพุทธบูรณาการ ของชาวไททรงดำ ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในการวิจัยนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยเก็บข้อมูลจากเอกสาร (Documentary Research) และการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview)
ผลการศึกษาพบว่า ชาวไททรงดำมีบริบททางประวัติศาสตร์มายาวนาน ก่อนจะอพยพเข้าสู่ประเทศไทยจากผลของการแพ้สงครามและการถูกต้อนเป็นเชลยศึก ชาวไททรงดำในเขตตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนใหญ่อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากจังหวัดเพชรบุรีและใต้สุดของอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ได้เข้ามาจับจองพื้นที่ในเขตตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัด
สุราษฎร์ธานีในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ นับเป็นชุมชนที่ยังคงอนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมดั้งเดิมและที่เห็นเด่นชัดที่สุด คือ วัฒนธรรมด้านวิถีชีวิตประจำวัน วัฒนธรรมการแต่งกาย วัฒนธรรมการเกิด วัฒนธรรมงานศพ และวัฒนธรรมด้านความเชื่อต่างๆ ซึ่งพิธีกรรมทั้งหมดมักจะมีความเชื่อเรื่อง “ผี”เข้ามาเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผีบรรพบุรุษ ผีบ้าน ผีเรือน ผีไร่ ผีนา โดยมีความเชื่อว่า การบูชาผีที่ถูกต้อง จะนำมาซึ่งความสุข ความเจริญของครอบครัว และในทางตรงกันข้ามถ้าหากมีการละเว้นไม่ปฏิบัติตามความเชื่อจะนำมาซึ่งความทุกข์ และความเลวร้ายของชีวิต ส่วนวัฒนธรรมด้านภาษาและการสื่อสาร ปรากฏให้เห็นน้อยมากถ้าไม่ได้รับการอนุรักษ์และสืบทอดอาจจะสูญหายไปในไม่ช้า
หลักพุทธธรรมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมของชาวไททรงดำ ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี หลักพุทธธรรมที่พบเด่นชัดและมีปรากฏสอดแทรกอยู่ในทุกวัฒนธรรม คือ (๑) หลักสังคหวัตถุ ๔ คือมีการช่วยเหลือสงเคราะห์กันในชุมชน (๒) หลักทิศ ๖ คือมีการปฏิบัติตนตามสมควรแก่สถานะ (๓) หลักคารวตา ๖ คือมีการให้ความสำคัญต่อการแสดงออกถึงความเคารพ (๔) คือหลักความกตัญญู คือมีการแสดงความกตัญญูต่อบุพพการีบุคคล (๕) หลักสาราณียธรรม คือ มีการปฏิบัติที่เป็นเหตุผูกใจให้ระลึกถึงกัน (๖) หลักอปริหาณียธรรม ๗ คือมีการปฏิบัติเพื่อความมั่นคงเข้มแข็งในกลุ่มชาติพันธ์
โดยมีแนวทางการอนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรม ๗ ประการ คือ (๑) การอบรมจากครอบครัว (๒) การสร้างระบบความสัมพันธ์ทางเครือญาติ (๓) การถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น (๔) การปลูกจิตสำนึกให้เห็นคุณค่าของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม (๕) การส่งเสริมกิจกรรมทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น (๖) การเผยแพร่แลกเปลี่ยน (๗) การเสริมสร้างปราชญ์ท้องถิ่น
Download
|