วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาเจตสิกธรรมในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท (๓) เพื่อศึกษาโทสะเจตสิกธรรมในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา โดยศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาทและเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวบรวม สรุป วิเคราะห์ เรียบเรียงบรรยายเชิงพรรณนา ตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ จากการวิจัยพบว่า
เจตสิก หมายถึง องค์ประกอบของจิต อาการ หรือการแสดงออกของจิต เป็นคุณสมบัติของจิต มีลักษณะเกิดดับพร้อมกับจิต เป็นอารมณ์ของจิต มีวัตถุที่อาศัยเดียวกับจิต ทำหน้าที่ปรุงแต่งจิตให้เป็นกุศลหรืออกุศล เจตสิกมี ๕๒ ดวง แบ่งเป็น ๓ กลุ่ม คือ (๑) เจตสิกที่เข้าปรุงแต่งจิตทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล เรียกว่า อัญญสมานาเจตสิก มี ๑๓ ดวง (๒) เจตสิกที่เข้าปรุงแต่งจิตที่เป็นอกุศลเรียกว่า อกุศลเจตสิก มี ๑๔ ดวง (๓) เจตสิกที่เข้าปรุงแต่งจิตที่เป็นกุศล เรียกว่า โสภณเจตสิก มี ๒๕ ดวง
วิปัสสนาภาวนาในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาทเป็นกระบวนการพัฒนาจิตให้รู้แจ้งธรรมชาติที่เป็นจริงของขันธ์ ๕ หรือรูปนามซึ่งตกอยู่ในไตรลักษณ์ องค์ธรรมของวิปัสสนา คือ ปัญญาเจตสิก จุดมุ่งหมายของการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาเพื่อให้บรรลุมรรค ผล นิพพาน อันเป็นจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาเถรวาท
โทสะเจตสิกธรรมในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา คือ ผู้ปฏิบัติต้องยึดหลักสติปัฏฐาน ๔ ได้แก่ การกำหนดพิจารณาโทสะเจตสิก ในขณะกำหนดรู้สภาวธรรมในหมวดกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา และธัมมานุปัสสนา หลักปฏิบัติ คือ ในขณะที่กำลังปฏิบัติหมวดกายานุปัสสนาและเวทนานุปัสสนา เมื่อโทสะเจตสิกหรือความขัดเคือง ไม่พอใจปรากฏกับจิตในขณะนั้น ให้ตั้งสติกำหนดรู้ที่ฐานของจิตตานุปัสสนา โดยกำหนดให้รู้ชัดว่า จิตมีโทสะ และภาวนาว่า โกรธหนอ ๆ โทสะหนอ ๆ ไม่พอใจหนอ ๆ เช่นนี้ จนเห็นการเกิดดับของโทสะจิตนั้น จนจิตของผู้ปฏิบัติคลายจากอำนาจของโทสะ แต่โทสเจตสิกจะละได้เด็ดขาดเมื่อบรรลุถึงอรหัตตมรรคเท่านั้น
Download |