ดุษฎีนิพนธ์เรื่อง “รูปแบบการบริหารงานวิศวกรรมตามหลักพระพุทธศาสนา” มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดทฤษฎีและหลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานวิศวกรรม ๒) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและอุปสรรคการบริหารงานวิศวกรรม ๓) เพื่อนำเสนอรูปแบบการบริหารงานวิศวกรรมตามหลักพระพุทธศาสนา โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงเอกสาร และการสัมภาษณ์
ผลการวิจัยพบว่า ทฤษฎีที่เกี่ยวกับการบริหารงานวิศวกรรม คือ ทฤษฎีการบริหาร ทฤษฎีการบริหารงานแบบวงจร PDCA ทฤษฎีการบริหารงานวิศวกรรม และทฤษฎีการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ทฤษฎีแรงจูงใจ การบริหารงานวิศวกรรม มีปัญหา ๕ ด้าน คือ ๑) ปัญหาด้านคน ๒) ปัญหา ด้านวัสดุ ๓) ปัญหาด้านเงิน ๔) ปัญหาด้านการจัดการ และ ๕) ปัญหาด้านปัจจัยภายนอก หลักธรรมที่สามารถนำมาใช้เพื่อการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ คือ หลักสังคหวัตถุ ๔ หลักพรหมวิหาร ๔ หลักอิทธิบาท ๔ อคติ ๔ และบุญกิริยาวัตถุ ๓ การบริหารงานวิศวกรรมไม่จำเป็นต้องยึดถือปฏิบัติตามหลักธรรมใดหลักธรรมหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่เป็นการนำองค์ธรรมต่าง ๆ ดังกล่าวนี้มาปฏิบัติให้เหมาะสมกับสถานการณ์ การส่งเสริมและพัฒนาการบริหารงานวิศวกรรม ในด้านการพัฒนาตน พัฒนาคน พัฒนางาน พัฒนาสังคมและพัฒนาสิ่งแวดล้อม สามารถนำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาบูรณาการ คือ สังคหวัตถุ ๔ พรหมวิหาร ๔ หลักอิทธิบาท ๔ อคติ ๔ และบุญกิริยาวัตถุ ๓ การนำหลักธรรมมาผสมผสานเข้าเป็นวิถีการดำเนินชีวิต รูปแบบการบริหารงานวิศวกรรมตามหลักพระพุทธศาสนานี้ เรียกว่า BACK MODEL ประกอบด้วย B = Buddhadhamma การนำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ A = Area คือการให้ความสำคัญต่อพื้นที่หรือสภาพแวดล้อม C = Controlling การควบคุมระบบให้ชัดเจน กำหนดโครงสร้างความสัมพันธ์ ของคนในองค์กร K = Knowledge คือ องค์ความรู้ ผู้บริหารงานวิศวกรรมควรจะมีการเรียนรู้ให้รอบด้าน ทั้งปัจจัยภายนอกปัจจัยภายใน สามารถทำให้องค์กรรู้จุดแข็ง จุดอ่อนของตนเอง
Download |