ดุษฎีนิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาวิธีปฏิบัติวิปัสสนาตามนัยแห่งพุทธบริหาร ๒) เพื่อศึกษาความเป็นมาของวิปัสสนาวงศ์ในประเทศไทย และ ๓) เพื่อศึกษาการบริหารสำนักวิปัสสนากรรมฐานของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร)
ผลการศึกษาพบว่า
การเจริญสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน ต้องทำควบคู่กันไปจึงจะเป็นหนทางเพื่อการหลุดพ้นทุกข์ ละกิเลสอาสวะทั้งหลายได้ โดยใช้สมถะเพื่อทำให้จิตหยุดนิ่งเป็นสมาธิ จนเกิดฌานขั้นต่าง ๆ และใช้ฌานเพื่อเป็นบาทแห่งวิปัสสนา สมถะจึงถือเป็นหลักปฏิบัติพื้นฐานเบื้องต้น เพื่อนำไปสู่วิปัสสนา ดังนั้น ลำดับขั้นตอนของการปฏิบัติจึงเริ่มจากสมถะแล้วต่อด้วยวิปัสสนา สมถะและวิปัสสนากรรมฐานจึงมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น เป็นหลักปฏิบัติเพื่อนำจิตที่อยู่ในขั้นโลกียะหรือจิตของปุถุชนเพื่อเข้าสู่โลกุตตระหรือจิตของพระอริยเจ้า
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) ได้เปิดสอนวิปัสสนากรรมฐานอย่างเป็นทางการ เริ่มตั้งแต่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ จึงเริ่มดำเนินการเพื่อที่จะตั้งสำนักวิปัสสนากรรมฐานขึ้นในวัดมหาธาตุ โดยดำเนินการเป็นเบื้องต้นและพัฒนาเป็นลำดับมา คือ (๑) ส่ง พระวิปัสสนาจารย์ไปฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐานในต่างประเทศ (๒) การพัฒนาการสถาบันวิปัสสนาธุระ (๓) เปิดสำนักงานกลางวิปัสสนาธุระ มีโครงการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานหลายหลักสูตร เช่น หลักสูตรพัฒนาบุคลากร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สัมมนาพระวิปัสสนาจารย์ และธรรมบรรยายภาคภาษาอังกฤษ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแก่ชาวต่างชาติ ปฏิบัติธรรมสำหรับพระสงฆ์และประชาชนทั่วไป และปฏิบัติธรรมวันวิสาขบูชา (๔) ส่งเสริมการจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมที่สอนตามหลักสติปัฏฐาน ๔ เช่น ศูนย์ปฏิบัติธรรมธรรมโมลี นครราชสีมา, สำนักปฏิบัติธรรม วัดอัมพวัน สิงห์บุรี, ยุวพุทธิกสมาคมฯ คุณแม่สิริ กรินชัย, สำนักปฏิบัติธรรมวัดภัททันตะฯ ชลบุรี, วัดพระธาตุศรีจอมทอง เชียงใหม่ ตลอดจนสำนักปฏิบัติอื่น ๆ ปัจจุบันมีศูนย์การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในประเทศต่าง ๆ วิปัสสนาจารย์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ไปเผยแผ่ทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อันทำให้มวลมนุษยชาติได้ดื่มดำรสแห่งพระธรรมอันเป็นไปเพื่อสันติสุขอย่างแท้จริง
Download |