ดุษฎีนิพนธ์เรื่อง “การวิเคราะห์วรรณกรรมลายลักษณ์เรื่องท้าวชมพูฉบับภาคใต้” มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาประวัติและพัฒนาการของวรรณกรรมลายลักษณ์ภาคใต้เรื่องท้าวชมพู ๒) เพื่อวิเคราะห์วรรณกรรมลายลักษณ์เรื่องท้าวชมพูฉบับภาคใต้ ๓) เพื่อวิเคราะห์หลักธรรมที่ปรากฏในวรรณกรรมลายลักษณ์เรื่องท้าวชมพูฉบับภาคใต้ โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงเอกสาร และการสัมภาษณ์
พบว่า วรรณกรรมเรื่องนี้เป็นวรรณกรรมพระพุทธศาสนาประเภทหนังสือบุด เขียนด้วยตัวอักษรไทยแบบโบราณสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ ๒) ซึ่งเรียกว่าอักษร ไทยย่อ วรรณกรรมเรื่องนี้พัฒนาการมาจากพระสูตรเรื่อง ชมฺพูปติสุตฺต หรือ ชมพูบดีสูตร พระสูตรนี้เผยแผ่เข้าสู่ประเทศไทยโดยพระภิกษุชาวทิเบต และจากประเทศไทยได้เผยแผ่เข้าไปยังประเทศศรีลังกาในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศประมาณปี พ.ศ.๒๒๙๘-๒๒๙๙ และหลังจากนั้นได้กระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย วรรณกรรมเรื่องนี้เขียนด้วยคำประพันธ์ชนิดต่าง ๆ เช่น กาพย์ยานี กาพย์ฉบัง และกาพย์สุรางคนางค์ ซึ่งเป็นที่นิยมในภาคใต้ ด้านหลักธรรม ผู้แต่งได้นำหลักธรรมเช่น อกุศลมูล
ไตรลักษณ์ และโลกุตรธรรม เสนอผ่านทางพฤติกรรมของตัวละครเอกคือท้าวชมพู ถึงแม้ว่าวรรณกรรมนี้จะไม่ได้อธิบายหลักธรรมดังกล่าวโดยตรง แต่ผู้อ่านก็สามารถเข้าใจหลักธรรมนั้นได้ นอกจากนั้นวรรณกรรมเรื่องนี้ยังแทรกคติความเชื่อด้านต่าง ๆ เช่น คติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา คติความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ ตลอดจนถึงสภาพสังคมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นอีกด้วย
Download
|