ดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิด ทฤษฎี และสภาพปัญหาจริยธรรมสื่อมวลชนไทย (๒) เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมที่เหมาะสมกับการเสริมสร้างจริยธรรมสื่อมวลชนไทย (๓) เพื่อเสนอแนวทางการเสริมสร้างจริยธรรมสื่อมวลชนไทยเชิงพุทธบูรณาการ โดยมีระเบียบวิธีวิจัยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ศึกษาจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) จากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informant) ๔ กลุ่ม ได้แก่ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการด้านพระพุทธศาสนา สื่อมวลชน และผู้บริโภคสื่อ รวมทั้งสิ้น ๓๐ รูป/คน โดยยืนยันข้อมูลด้วยการสนทนากลุ่มเฉพาะ (Focus Group) และนำเสนอในรูปแบบการพรรณนาโวหาร
ผลการวิจัยพบสภาพปัญหาจริยธรรมของสื่อมวลชนไทยประกอบด้วย (๑) ปัญหาจริยธรรมของทุนธุรกิจสื่อมวลชน (๒) ปัญหาจริยธรรมด้านการนำเสนอเนื้อหาข่าว (๓) ปัญหาการขาดจิตสำนึกและความรู้ความเข้าใจในจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน (๔) ปัญหาด้านการกำกับดูแลจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน
สำหรับหลักพุทธธรรมที่เหมาะสมกับการเสริมสร้างจริยธรรมสื่อมวลชนไทยได้แก่ หิริโอตตัปปะ อคติ ๔ เบญจศีล เบญจธรรม สัมมาอาชีวะ และหลักประโยชน์ ๓ ส่วนแนวทางการเสริมสร้างจริยธรรมสื่อมวลชนไทยเชิงพุทธบูรณาการ ในส่วนของทุนธุรกิจสื่อมวลชนควรยึดหลักสัมมาอาชีวะในกระบวนการทำงาน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ประพฤติมิจฉาชีพ จริยธรรมในด้านการนำเสนอเนื้อหาข่าว สื่อมวลชนควรควบคุมตนเองให้มีมโนธรรม หลีกเลี่ยงอคติ ด้วยการฝึกจิตไม่ให้เอนเอียงเลือกข้าง และรักษาระยะห่างกับแหล่งข่าวเพื่อลดอคติ รักชอบ ชัง หลง กลัว ฝึกความเมตตาต่อบุคคลอื่น และหมั่นทำจิตใจให้มั่นคงด้วยการใช้สติระวังในการคิด การพูด การนำเสนอข่าว
ไม่เสนอข่าวเร้าอารมณ์ที่ไม่ก่อเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ ตระหนักในเกียรติศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพ และควรกำกับดูแลจริยธรรมวิชาชีพให้ฝังลึกในจิตใจตามหลัก “พุทธจริยธรรมสื่อมวลชน” (Buddhist Ethics of Mass Media) ด้วยการมุ่งฝึกฝนปรับจิตใจให้มีสำนึกแห่งความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ละอายกลัวต่อความประพฤติผิดจริยธรรมทางกาย วาจา ใจ ที่จะส่งผลกระทบเสียหายต่อผู้อื่น ปรับเปลี่ยนมาเป็นการทำหน้าที่รายงานความจริง ตรงไปตรงมา ไม่ลำเอียง มีความเป็นธรรม คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ มีจิตวิญญาณความเป็นสื่อมวลชนที่มีจริยธรรมและคุณธรรม
Download |