หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาขวัญชัย ปุตฺตวิเสโส (บุตรวิเศษ)
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๓ ครั้ง
ทิศทางการพัฒนาผู้สำเร็จการศึกษาเปรียญธรรม ๙ ประโยคใน ทศวรรษหน้า
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาขวัญชัย ปุตฺตวิเสโส (บุตรวิเศษ) ข้อมูลวันที่ : ๑๖/๑๑/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาทวี มหาปญฺโญ (ละลง)
  แม่ชีกฤษณา รักษาโฉม
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

 

การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ ๑) เพื่อศึกษาพัฒนาการพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทย ๒) เพื่อศึกษาบทบาทของผู้สำเร็จการศึกษาเปรียญธรรม ๙ ประโยคที่พึงประสงค์ ๓) เพื่อศึกษาทิศทางการพัฒนาผู้สำเร็จการศึกษาเปรียญธรรม ๙ ประโยคในทศวรรษหน้า โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative  Research) เป็นการศึกษาวิจัยเอกสาร (Documentary Research) เก็บข้อมูลการสัมภาษณ์ (Interview) ผู้ให้ข้อมูล ๑๒ รูป/คน

              ผลการศึกษาวิจัยพบว่า : 

              การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทยได้รับต้นกำเนิดมาจากศรีลังกาในสมัยพระเจ้าปรักกมพาหุ  เข้าสู่ประเทศไทยในสมัยสุโขทัยในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง จากนั้นจึงเริ่มจัดให้มีการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมขึ้น  แต่ขาดช่วงไปในสมัยอยุธยาตอนต้นเนื่องจากพระมหากษัตริย์ไม่ให้ความสนใจและสนับสนุนเท่าที่ควร จากนั้นจึงเริ่มมีการพัฒนาอีกครั้งในสมัยพระนารายณ์มหาราช  และได้รับการพัฒนาเรื่อยมาจนมาถึงสมัยธนบุรีและสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งการแยกปีการศึกษาออกเป็น ๙ ชั้นเริ่มมีตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ ในสมัยรัตนโกสินทร์  และพัฒนาในหลาย ๆ ด้านจนกลายเป็นหลักสูตรที่ใช้ในปัจจุบันนี้

              บทบาทที่พึงประสงค์หรือบทบาทที่ผู้สำเร็จการศึกษาควรดำเนินการนั้นมี ๒ ส่วน  ส่วนที่ ๑ คือบทบาทของคณะสงฆ์ มี ๖ ด้าน บางบทบาทเช่น บทบาทด้านศาสนศึกษา มีจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาทำงานอยู่มาก  ในขณะที่บางบทบาทมีน้อย  แต่ไม่ว่าจะน้อยหรือมาก บทบาททั้ง ๖ ด้านก็ยังคงต้องการผู้สำเร็จการศึกษาเปรียญธรรม ๙ ประโยคเพิ่มขึ้นอยู่ดี  ส่วนที่ ๒ คือบทบาทในสังคมภายนอกที่ต้องการวิชาความรู้ทางพระพุทธศาสนาจากผู้สำเร็จการศึกษาเปรียญธรรม ๙ ประโยคเข้าช่วยเหลือและสนับสนุน ที่เด่นชัดมากที่สุด ๓ ด้าน ได้แก่ ด้านการศึกษา  ด้านการปกครอง  และด้านวัฒนธรรมและประเพณี

ในอีก ๑๐ ปีข้างหน้านั้นสังคมจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางต่าง ๆ ดังนั้นคุณวุฒิเปรียญธรรม ๙ ประโยคยังไม่เพียงพอสำหรับการเปลี่ยนแปลง จะต้องพัฒนาใน ๔ ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ ๑) เสริมความรู้เก่าในทางพระพุทธศาสนาให้มีความเข้าใจเชิงลึกมากยิ่งขึ้น  ๒) เสริมความรู้ใหม่ให้เท่าทันกับสังคม  ๓) บูรณาการเสริมสร้างความรู้เชิงปฏิสัมพันธ์ระหว่างความรู้เก่าและความรู้ใหม่  ๔) ประยุกต์ใช้และสร้างทักษะการใช้เทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพ.

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕