ดุษฎีนิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาวิญญาณในพุทธปรัชญาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาอาลยวิชญาณตามแนวคิดของสำนักโยคาจาร และ (๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์อาลยวิชญาณตามแนวคิดของสำนักโยคาจารในทัศนะของพุทธปรัชญาเถรวาท การวิจัยครั้งนี้เป็นวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพด้านเอกสาร
ผลการวิจัยพบว่า วิญญาณในพุทธปรัชญาเถรวาทเป็นอภิปรัชญาเชิงสัจนิยม เพราะหลักการที่มีอยู่ว่า วิญญาณมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย และเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามและรูปจึงมี วิญญาณเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าจิตหมายถึงการที่จิตรู้แจ้งอารมณ์ โดยมีความหมาย ๔ นัย คือ (๑) รู้คิด (๒) รู้ก่อ (๓) รู้สั่งสม และ (๔) กระทำให้วิจิตร ปรากฏอยู่ในขันธ์ ๕ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ ว่าโดยประเภทคือวิญญาณ ๖ เป็นวิญญาณมีกระบวนการเกิดดับตลอดเวลาเป็นไปตามฐานะบทบาทและหน้าที่ของตน
ส่วนอาลยวิชญาณตามแนวคิดของสำนักโยคาจารเป็นอภิปรัชญาจิตนิยม เพราะโยคาจารถือว่า “อาลยวิชญาณเป็นความจริงแท้เดียวที่มีอยู่” โดยนำเสนอว่า อาลยวิชญาณเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงเพียงอย่างเดียว วัตถุภายนอกไม่มีอยู่จริงเป็นเหมือนความฝันหรือภาพลวงตา มีความหมายอยู่ ๓ นัย คือ (๑) รู้เก็บ (๒) รู้ก่อ และ (๓) รู้ปรุง โดยประเภทของอาลยวิชญาณมี ๘ ทั้งหมดมีอยู่เพื่อรับรู้โลกภายนอกและสร้างโลกภายใน โดยเฉพาะอาลยวิชญาณคือปฐมวิญญาณเป็นมูลฐานโลก เก็บก่อสร้างสรรค์สรรพสิ่ง
พุทธปรัชญาเถรวาทมองอาลยวิชญาณของสำนักโยคาจารว่า เป็นอภิปรัชญาจิตนิยมสุดโต่งคือความเห็นว่าวิญญาณเที่ยงแท้ หรืออาลยวิชญาณรองรับการบรรลุเป้าหมายอันสูงสุด คือความรู้แจ้งหรือการตรัสรู้ปุทคลศูนยตาและธรรมศูนยตา
Download
|