การวิจัยเรื่อง “แนวทางการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการปฏิบัติธรรม” มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ (๑) เพื่อศึกษาหลักการจัดสภาพแวดล้อมและองค์ประกอบภูมิสถาปัตยกรรมที่สามารถนำมาปรับใช้เพื่อการปฏิบัติธรรม (๒) เพื่อศึกษาและวิเคราะห์สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการปฏิบัติธรรมในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท (๓) เพื่อเชื่อมโยงองค์ความรู้และเสนอแนวทางการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการปฏิบัติธรรม โดยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพประกอบด้วยการวิจัยเชิงเอกสาร การสัมภาษณ์เชิงลึก และการสนทนากลุ่ม
ผลการวิจัยพบว่า หลักการจัดสภาพแวดล้อมที่สอดคล้องกับการปฏิบัติธรรมได้แก่ สภาวะน่าสบาย การออกแบบที่ยั่งยืน ภูมิทัศน์เพื่อการบำบัดรักษา และป่าไม้ในเมือง การวางผังบริเวณเป็นการจัดใช้ส่วนของที่ดิน กำหนดประโยชน์ใช้สอยให้สอดคล้องเชื่อมโยงกันด้วยการศึกษาวิเคราะห์ที่ตั้ง-ผู้ใช้-กิจกรรม แบ่งเขตการใช้ จัดวางอาคาร สิ่งก่อสร้าง ระบบสัญจร การออกแบบองค์ประกอบภูมิสถาปัตยกรรมได้แก่ การใช้พืชพันธุ์ องค์ประกอบอาณาเขต-การสัญจร-ภูมิทัศน์ คุณลักษณะของการจัดสภาพแวดล้อมและองค์ประกอบภูมิสถาปัตยกรรมที่สามารถนำมาปรับใช้เพื่อการปฏิบัติธรรมได้แก่ มีประโยชน์ใช้สอย มีความงาม รักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
Download |