งานวิจัยนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาเรื่อง "การศึกษาของคณะสงฆ์ในประเทศพม่า" โดยเริ่มตั้งแต่การศึกษาแบบดั้งเดิมจนถึงปัจจุบัน และมีการเปรียบเทียบการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยกับคณะสงฆ์พม่าในบางประเด็นอีกด้วย ในการวิจัยนี้ ผู้วิจัยได้แบ่งออกเป็น ๕ บท คือ บทที่ ๑ ว่าด้วย โครงสร้างของวิทยานิพนธ์ บทที่ ๒ ว่าด้วย การศึกษาแบบดั้งเดิมของคณะสงฆ์พม่า บทที่ ๓ ว่าด้วย การศึกษาสมัยปัจจุบันของคณะสงฆ์พม่า บทที่ ๔ ว่าด้วย การเปรียบเทียบการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยกับพม่า บทที่ ๕ ว่าด้วย สรุปผลการวิจัยและข้อเสนอแนะ การศึกษาของคณะสงฆ์ในประเทศพม่า แบ่งออกเป็น ๒ แบบ คือ ๑. การศึกษาแบบดั้งเดิม ๒. การศึกษาแบบสมัยปัจจุบัน การศึกษาแบบดั้งเดิม แบ่งออกเป็น ๒ คือ ปริยัติและปฏิบัติ ปริยัติมีอยู่ ๕ สมัย คือ ๑. สมัยพุกาม ๒. สมัยเป็งยะถึงสมัยยองยัน ๓. สมัยคุนบอง ๔. สมัยที่อังกฤษปกครอง ๕. สมัยที่ญี่ปุ่นปกครอง ปฏิบัติ ศึกษาเฉพาะกรณี ๓ สำนัก คือ ๑. สำนักมหาสีสยาดอ ๒. สำนักสุ่นลุนสยาดอ ๓. สำนักโมก๊กสยาดอ การศึกษาสมัยปัจจุบัน หลักสูตรของคณะสงฆ์พม่าที่ใช้เรียนอยู่ในปัจจุบันมี ๔ แบบ คือ ๑. การสอบประจำปี ๒. มหาวิทยาลัย ๓. ปิฏกธร ๔. เรียนพระไตรปิฎกและอรรถกถา นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังได้นำเอาการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยกับพม่ามาเปรียบเทียบกันทั้งในด้านปริยัติและปฏิบัติ การศึกษาด้านปริยัติของคณะสงฆ์พม่านั้นยังคงรักษาการศึกษาพระไตรปิฎกเอาไว้ได้อย่างมั่นคง ส่วนการศึกษาด้านปริยัติของไทยมีการปรับเอาวิชาทางโลกเข้ามาเสริมด้วย ทางด้านปริยัติศึกษาในประเทศพม่า มีการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอย่างเดียว ส่วนในประเทศไทยมีทั้งสมถะและวิปัสสนากรรมฐานควบคู่กัน จากการศึกษาวิจัยเรื่องการศึกษาของคณะสงฆ์ในประเทศพม่า ที่ได้จัดทำแล้วส่วนหนึ่งในงานวิจัยนี้ ผู้วิจัยเห็นว่า มีเรื่องที่น่าสนใจอีกมาก คือ สำนักวิปัสสนากรรมฐานในประเทศพม่าที่ยังไม่ได้กล่าวถึงในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ เช่น สำนักโมนหยิงสยาดอ สำนักพะอ๊ก สยาดอ อุบาขิ่น เป็นต้น แล้วนำมาศึกษาวิจัยเปรียบเทียบกับสำนักสมถวิปัสสนากรรมฐานของไทย เช่น วัดพระธรรมกาย วัดอโศการาม อาจารย์แนบ มหานีรานนท์ เป็นต้น ศึกษาวิจัยทั้งในแง่ความเหมือนและความต่างกัน ทั้งนี้ เพื่อจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจในการปฏิบัติธรรม