ดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ได้แก่ ๑. เพื่อศึกษาเวทนาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท ๒. เพื่อศึกษาวิธีการปฏิบัติต่อเวทนาของสำนักวิปัสสนากรรมฐาน และ ๓. เพื่อศึกษารูปแบบการปฏิบัติต่อเวทนาในการปฏิบัติกรรมฐาน และการประยุกต์ใช้หลักการปฏิบัติต่อเวทนาในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป
ผลการวิจัยพบว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เจริญสติกำหนดรู้เวทนาที่เกิดขึ้นตลอดเวลาตามความเป็นจริง หลักธรรมที่ใช้ปฏิบัติต่อเวทนาทรงเน้นเรื่องสติ สัมปชัญญะ วิริยะ ขันติ สมาธิ และการระลึกถึงธรรมได้แก่ โพชฌงค์ ไตรลักษณ์ โยนิโสมนสิการ อนุสสติ ๑๐ และสัญญา ๑๐ ประการ วิธีการปฏิบัติต่อเวทนาในสำนักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ทั้ง ๕ สำนักต่างเน้นการกำหนดรู้เวทนาตามความเป็นจริง มีข้อปลีกย่อยที่ต่างกันคือ ศูนย์ฯ นานาชาติเน้นให้อดทนดูเวทนาโดยพยายามไม่เปลี่ยนอิริยาบถมากที่สุดเพื่อเห็นธรรมชาติของเวทนาได้เร็วขึ้น สำนักโกเอ็นก้าให้อดทนดูเวทนาโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถเฉพาะชั่วโมงอธิษฐาน สำนักอาจารย์แนบเน้นกำหนดรู้ว่าจำต้องเปลี่ยนอิริยาบถเพราะเกิดทุกข์เพื่อให้รู้ว่ารูปเป็นทุกข์จะได้เกิดปัญญา สำนักพุทธทาสและสำนักหลวงพ่อเทียนอนุญาตให้เปลี่ยนอิริยาบถได้เมื่อทนไม่ไหวโดยทำความรู้สึกตัวเสมอ รูปแบบการปฏิบัติต่อเวทนาในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ได้แก่ ๑. มีศรัทธา ๒. รู้ให้ทัน ๓. หมั่นบำเพ็ญ ๔. เห็นไตรลักษณ์ ๕. จักวางได้ ส่วนการประยุกต์ใช้หลักการปฏิบัติต่อเวทนาในชีวิตประจำวัน ได้แนวทางการปฏิบัติต่อเวทนาเพื่อเสริมสร้างความสุขในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ๑. คบกัลยาณมิตร ๒. จิตเมตตา ๓. ปรารถนาน้อย ๔. คอยระวังจิต ๕. คิดด้านบวก และแนวทางการปฏิบัติต่อเวทนาเพื่อบำบัดทุกข์ในชีวิตประจำวันได้แก่ ๑. เตรียมใจรับ ๒. รู้ทันแท้ ๓. เพียรแก้ไข ๔. ใช้ปัญญา ๕. กล้าปล่อยวาง ซึ่งทั้งรูปแบบและแนวทางทั้งสิ้นนับว่าสอดคล้องกับหลักการปฏิบัติต่อเวทนาในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ซึ่งรวมอยู่ในความไม่ประมาท
Download |