หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาทองสุข สุจิตฺโต (ไกรพงษ์)
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๘ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์วิถีชีวิตมนุษย์ในทรรศนะพุทธปรัชญา (๒๕๔๐)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาทองสุข สุจิตฺโต (ไกรพงษ์) ข้อมูลวันที่ : ๑๗/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาต่วน สิริธมฺโม
  พระมหาพิธูร วิธุโร
  ดร.บัว พลรัมย์
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๙ เมษายน ๒๕๔๐
 
บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้ มีจุดประสงค์ เพื่อการศึกษาวิเคราะห์แนวความคิดวิถีชีวิตมนุษย์ในทรรศนะพุทธปรัชญาเถรวาทเท่านั้น ผู้วิจัยมุ่งศึกษาทรรศนะเกี่ยวกับวิถีชีวิตมนุษย์ให้ได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีทางการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในสังคม ตามหลักศีลธรรม จริยธรรม และเจตคติสูงสุดของชีวิตมนุษย์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสุดท้ายของชีวิตมนุษย์
 วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้แบ่งออกเป็น ๖ บท ตามลำดับดังต่อไปนี้

          บทที่ ๑ ความเป็นมาของปัญหาและวัตถุประสงค์ของการวิจัย

          บทที่ ๒ ของวิทยานิพนธ์แสดงให้เห็นแนวความคิดเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์พิจารณาการเกิด แก่ เจ็บ ตาย โดยธรรมชาติที่แท้จริงเท่าที่ปรากฏในพระไตรปิฎกจนถึงปัจจุบัน ไม่ได้เน้นที่จะแสวงหาคำตอบทางอภิปรัชญาที่เกี่ยวกับความเป็นมาของมนุษย์ยุคก่อน ๆ ซึ่งเกินความจำเป็น ไม่เกิดประโยชน์แก่การดับทุกข์ทั้งปวง

          องค์ประกอบ ส่วนสำคัญของชีวิต ได้แก่ นามรูป หรือ จิตกับกายที่เป็นธรรมชาติซึ่งต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน จะขาดไปอย่างใดอย่างหนึ่งมิได้  หรือประกอบด้วยขันธ์ ๕ ธาตุ ๔

          ประเภทของชีวิตมนุษย์ก็พบว่ามนุษย์ทุกชีวิตมีความแตกต่างกันตามธรรมชาติ ตามภูมิปัญญาของบุคคล ๔ จำพวก ตามเพศ ตามคุณธรรม ตามจริต

          ชะตากรรมของชีวิตมนุษย์ในทรรศนะพุทธปรัชญาต้องตกอยู่ภายใต้กฏแห่งกรรมและกฏไตรลักษณ์ แม้สรรพสิ่งทั้งปวงก็เช่นเดียวกัน หาใช่พรหมลิขิตหรือการบันดาลของอำนาจลึกลับของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอกไม่

          บทที่ ๓ เป็นการศึกษาวิเคราะห์ความหมายวิถีชีวิตมนุษย์ในการดำเนินชีวิตในสังคมตามหลักศีลธรรม หรือจริยธรรม การดำเนินชีวิตให้มีความสงบสุขในการอยู่ร่วมกันในสังคมได้นั้น จะต้องปฏิบัติตามหลักมัชฌิมาปฏิปทา คือ หลักทางสายกลาง ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งประกอบด้วยศีล สมาธิ ปัญญานั่นเอง

          บทที่ ๔ มติวิถีชีวิตมนุษย์ในสังคม การอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความสงบสุขได้ ในทรรศนะพุทธปรัชญาจะต้องดำเนินไปตามหลักทิศ ๖ ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานภาพและหน้าที่ที่แตกต่างกัน แต่ก็มีความสัมพันธ์กันตามหน้าที่ที่ได้กล่าวไว้เป็นข้อปฏิบัติอย่างมีเหตุผลในคุณธรรม คือ ทิศ ๖

          บทที่ ๕ เป็นการศึกษาวิเคราะห์ถึงเจตคติสูงสุด อันเป็นเป้าหมายสุดท้ายปลายทางของชีวิตมนุษย์ ตามทรรศนะพุทธปรัชญาพบว่า ชีวิตมนุษย์ควรมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่การหลุดพ้นจากความทุกข์ พบว่ามีแนวทางแห่งการเอาชนะทุกข์ได้ด้วยตนเอง เมื่อดับเหตุแห่งทุกข์ได้อย่างเป็นขั้นตอนจากข้อปฏิบัติอย่างง่าย ๆ จะต้องประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา อริยสัจ ๔ และอริยมรรคมีองค์ ๘ ปฏิบัติไปตามทางสายกลาง (มัชฌิมปฏิปทา) ไม่ตึงเกินไปและไม่ถือหย่อนยานเกินไป การดำเนินชีวิตอย่างนี้ก็จะเข้าถึงความดับทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง บรรลุ "นิพพาน" อันเป็นความสุขอย่างยิ่ง

          บทที่ ๖  สรุปผลการวิจัยและข้อเสนอแนะ
 

Download : 254002.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕