บทคัดย่อ
การวิจัยฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ ๑) เพื่อศึกษาการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ของพระธรรมทูตในอำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร ๒) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบความคิดเห็น
ของประชาชนที่ต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตในอำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร
จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะที่มีต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตในอำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร
ระเบียบวิธีวิจัยเป็นการวิจัยแบบผสานวิธี (Mixed - Methods Research) การวิจัย
เชิงปริมาณ โดยการวิจัยเชิงสำรวจ เก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามจากประชาชนทั่วไปในอำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร ได้จำนวน ๓๙๖ คน จากประชาชนทั้งหมด ๓๘,๔๓๓ คน โดยใช้สูตรการคำนวณกลุ่มตัวอย่างของ ทาโร่ ยามาเน่ (Taro Yamane) เครื่องมือการวิจัยเป็นแบบสอบถาม มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับอยู่ที่ ๐.๘๙๒ เป็นคำถามแบบปลายเปิดและปลายปิด โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสังคมศาสตร์ในการวิเคราะห์ข้อมูล สถิติที่ใช้ในการวิจัยคือ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงแบนมาตรฐาน และทดสอบค่าที (t-test) และค่าเอฟ (F-Test) และการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน ๑๐ รูป/คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหาเชิงพรรณนา
ผลการวิจัยพบว่า
๑) ประชาชนกลุ่มตัวอย่าง มีความคิดเห็นต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ของพระธรรมทูตในอำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร ในภาพรวม อยู่ในระดับมาก ( = ๔.๐๘)
เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน คือ ด้านเนื้อหาของการเผยแผ่ ด้านรูปแบบ
การเผยแผ่ ด้านวิธีการเผยแผ่ และด้านขั้นตอนการเผยแผ่ ตามลำดับ
๒) ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นของประชาชนที่มีความคิดเห็นต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตในอำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร จำแนกตามข้อมูลส่วนบุคคล พบว่า ด้านเพศ พบว่า ประชาชนทั่วไปที่มีเพศต่างกัน มีความคิดเห็นต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตในอำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร โดยภาพรวม ไม่แตกต่างกัน จึงปฏิเสธสมมติฐาน
การวิจัย ส่วนด้านอายุ ด้านวุฒิการศึกษาสามัญ ด้านอาชีพ พบว่า โดยภาพรวม แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ จึงยอมรับสมมติฐานที่ตั้งไว้
๓) ปัญหา อุปสรรค การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตในอำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร พบว่า ๑) พระธรรมทูตมีการบรรยายมากกว่าการนำปฏิบัติจริง ๒) พระธรรมทูตขาดการจัดทำเสียงธรรมะตามสายในชุมชน ๓) พระธรรมทูตขาดทักษะในการใช้สื่อเทคโนโลยีประกอบการบรรยาย ๔) พระธรรมทูตขาดการชี้แจงในการทำงาน และมอบหมายงานให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ข้อเสนอแนะ พบว่า ๑) พระธรรมทูตควรกำหนดเนื้อหาสำหรับการบรรยาย เพื่อความเข้าใจได้โดยง่าย และสามารถนำเอาหลักธรรมไปปฏิบัติได้จริง ๒) พระธรรมทูตควรมีการจัดทำธรรมเสียงตามสายในชุมชน
๓) พระธรรมทูตควรมีฝึกทักษะในการใช้สื่อเทคโนโลยีประกอบการบรรยาย ๔) พระธรรมทูตควรมีการชี้แจงให้รับทราบในการจัดกิจกรรมทุกครั้ง
ดาวน์โหลด
|