บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแต่ละยุค โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาเถรวาทในดินแดนไทย และเพื่อศึกษาถึงพัฒนาการการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตไทยสายอินเดีย-เนปาล โดยพิจารณาว่า สามารถเป็นตัวแทนของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของไทยในยุคปัจจุบันได้ ทั้งนี้เพื่อพิจารณาถึงแนวคิด หลักการ และวิธีการของงานเผยแผ่ที่แตกต่างไปในแต่ละยุคสมัย
จากการศึกษาได้พบองค์ประกอบของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ทรงวางแนวทางไว้ให้ ๓ องค์ประกอบคือ (๑) เป้าหมาย เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข และเพื่อสันติภาพของมวลมนุษย์ (๒) หลักการ ประกอบด้วย หลักการแห่งพระธรรมวินัย หลักการเผยแผ่ และคุณธรรมของผู้เผยแผ่ (๓) วิธีการ สามารถแยกได้เป็น วิธีดำเนินการ และวิธีการสอน
ประเทศไทยนับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทมาตั้งแต่ครั้งสุโขทัยและล้านนา ต่อเนื่องมาทุกยุคทุกสมัย พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงมีหลักการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาไปในแนวเดียวกันคือ การสืบทอดรักษาความบริสุทธิ์ของพระธรรมวินัยด้วยการสังคายนาและคัดลอกพระไตรปิฎก ส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณร จัดระเบียบสังฆมณฑล เชิดชูและให้กำลังใจแก่คณะสงฆ์ด้วยการมอบสมณศักดิ์ เป็นต้น โดยมีวิธีการปลีกย่อยที่พัฒนาขึ้นตามยุคสมัย เมื่อมาถึงช่วงเวลาของการเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตย อำนาจการบริหารกิจการคณะสงฆ์และการเผยแผ่ได้ไปขึ้นอยู่กับมหาเถรสมาคม งานเผยแผ่ของคณะสงฆ์ได้พัฒนาขึ้นมาสู่งานพระธรรมทูตทั้งภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะสายต่างประเทศเป็นการเผยแผ่เชิงรุกที่เห็นภาพได้ชัด คณะพระธรรมทูตสายต่างประเทศชุดแรกของไทยอย่างเป็นทางการคือ พระธรรมทูตสายอินเดีย เริ่มเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๒ จึงมีพัฒนาการงานเผยแผ่มากว่า ๕๐ ปี และจากการศึกษาพบว่าพระธรรมทูตส่วนใหญ่ยังคงรักษาหลักการและเป้าหมายของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามที่พระพุทธองค์ประทานไว้ให้ แต่ในส่วนของวิธีการดำเนินงานและการกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการเผยแผ่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยของสภาพเศรษฐกิจ การเมือง สังคม รวมถึงทรรศนะของหัวหน้าพระธรรมทูตในแต่ละรุ่น และยังไม่สามารถวิเคราะห์ได้ถึงผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายเดิมแท้ของการไปเผยแผ่ยังประเทศอินเดียที่ต้องการนำพระพุทธศาสนากลับคืนให้แก่ชาวอินเดีย
ดาวน์โหลด
|