บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ ๑) เพื่อศึกษาประวัติและผลงานของครูบากัญจนะอรัญญวาสี มหาเถระ (พระครูบามหาเถร) ๒) เพื่อศึกษาบทบาทของครูบากัญจนะอรัญญวาสี มหาเถระ (พระครูบามหาเถร) ๓) เพื่อวิเคราะห์หลักธรรมที่เป็นคุณสมบัติของครูบากัญจน อรัญญวาสี มหาเถระ (พระครูบามหาเถร) ที่มีอิทธิพลต่อพระพุทธศาสนา งานวิจัยนี้เป็นวิจัยเชิงเอกสารจากปฐมภูมิ เช่น พระไตรปิฎก และ ทุติยภูมิ จากหนังสือ ตำรา วิจัยที่เกี่ยวข้อง
๑. ประวัติและผลงาน ครูบากัญจนอรัญญวาสี มหาเถระ หรือ ครูบามหาเถร อดีตเจ้าอาวาสวัดสูงเม่น ต.สูงเม่น อ.สูงเม่น จ.แพร่ เป็นพระนักปฏิบัติ ซึ่งเป็นที่รู้จักนับถือและศรัทธาของเจ้าเมืองในเขตล้านนาและในพระนคร ตลอดจนถึงศรัทธาประชาชนทั้งในล้านนาและหลวงพระบาง ประเทศลาว และประเทศพม่า ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ท่านได้ทำการศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและภาษาบาลีจนแตกฉานรวมทั้งภาษาล้านนาได้ช่วยเป็นครูสอนพระภิกษุในวัดศรีชุมต่อมาระยะหนึ่งย้ายมาจำพรรษาอยู่วัดสูงเม่น ตลอดระยะเวลาที่ท่านเจริญอยู่ในสมณเพศท่านได้จาร (จารึก) คัมภีร์ต่างๆไว้มากมายในพระพุทธศาสนา สิริรวมพระคัมภีร์ที่เก็บไว้ในหอไตรวัดสูงเม่นนั้น มี ๒,๕๖๗ มัด นับเป็นผูกได้ ๘,๘๔๕ ผูก วาระสุดท้ายของครูบากัญจนอรัญวาสี มหาเถร ท่านได้เดินทางเพื่อหนีความวุ่นวายไปยังเมืองระแหง จังหวัดตาก ไปพักอยู่สวนมะม่วงของชาวบ้าน พอชาวบ้านเจ้าของสวนทราบซื่อเสียงเรียงนามท่านแล้ว ชายเจ้าของสวนเลยยกสวนให้ครูบาจำพรรษาอยู่ เรียกสถานนั้นว่าวัดป่าอัมพวัน และต่อมาครูบากัญจนอรัญญวาสี มหาเถร ก็ได้มรณภาพ ณ ที่วัดอัมพวัน สวนมะม่วงเมืองระแหงนั้นเอง
๒. บทบาทของครูบากัญจนะอรัญญวาสี มหาเถระ (ครูบามหาเถร) มีทั้งหมด ๖ ด้าน ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ เกี่ยวกับการบริหารกิจการคณะสงฆ์ในปัจจุบัน กล่าวคือ ๑. ด้านการปกครอง ท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ เป็นเจ้าอาวาสวัดสูงเม่น และได้เป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอนแก้ว ๒. ด้านการศาสนศึกษา ท่านได้ศึกษาอยู่ที่วัดศรีชุมและได้เป็นอาจารย์สอนนักธรรมและบาลีด้วย ต่อมาท่านได้เริ่มจาร(จารึก)คัมภีร์ธรรม ล้านนาจำนวน๒,๕๖๗ มัด นับเป็นผูกได้ ๘,๘๔๕ ผูก และสั่งสอนศิษย์จนสร้างผลงานที่มากมาย ๓. ด้านการเผยแผ่ครูบามหาเถร เป็นผู้ที่มีสติปัญญาอันเฉียบแหลม ได้ศึกษาพระธรรมจนแตกฉานถึงขั้นญาณสมาบัติชั้นสูงและมีความรอบรู้เรื่องราวต่างๆมากมาย ท่านได้ชักชวนพระสงฆ์และฆราวาสผู้มีความรู้ให้มาจาร (จารึก) ความรู้แขนงต่างๆลงในใบลานให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ๔.ด้านสาธารณูปการ ท่านได้สร้างวัดมหาโพธิ์ วัดสูงเม่น วัดศรีดอก วัดพระธาตุดอนแก้วไว้ในพระพุทธศาสนา ๕. ด้านการศึกษาสงเคราะห์ท่านได้ทิ้งองค์ความรู้ที่ท่านได้จาร(จารึก)ไว้ให้คนรุ่นหลังศึกษามากมาย ๖. ด้านสาธารณสงเคราะห์การที่ท่านได้เป็นเป็นประธานหรือเป็นองค์อุปถัมภ์ในการสร้างวัดมหาโพธิ์ วัดสูงเม่น วัดศรีดอก และวัดพระธาตุ ดอนแก้ว ถือได้ว่าเป็นงานด้านสาธารณะสงเคราะห์
๓. หลักธรรมที่คุณสมบัติของครูบากัญจนะอรัญญวาสี มหาเถร(พระครูบามหาเถร) พบว่ามีหลักธรรมที่เกี่ยวข้อง ประกอบไปด้วยหลักธรรมดังนี้ หลักพรหมวิหาร ๔ อิทธิบาท ๔ สังคหวัตถุ ๔ พล ๕ สัปปุริสธรรม ๗ สังคหวัตถุ ๔
ดาวน์โหลด |