หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นายศักดิ์ชัย อนันต์ตรีชัย
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๕ ครั้ง
จริยศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท(๒๕๕๑)
ชื่อผู้วิจัย : นายศักดิ์ชัย อนันต์ตรีชัย ข้อมูลวันที่ : ๒๓/๐๗/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ
  รศ. ดร. สมภาร พรมทา
  รศ. ดร. สมภาร พรมทา
วันสำเร็จการศึกษา : ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑
 
บทคัดย่อ

     ปัจจุบัน ธุรกิจคือ พลังสำคัญในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่อารยธรรมมนุษย์ เป็น
พลังขับเคลื่อนสังคมโลกให้เจริญก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง แต่ในขณะเดียวกัน การมุ่งแสวงหา
ผลประโยชน์สูงสุดของเหล่านักธุรกิจก็ได้สร้างปัญหาจำนวนมากเช่นเดียวกัน สามารถพบเห็นอย่าง
สม่ำเสมอไม่ว่าที่ใดๆบนโลก ไม่ว่าจะเป็นการเอารัดเอาเปรียบ การแข่งขันที่ปราศจากความเมตตา
ปรานี และการแสวงหาผลประโยชน์จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ อย่างไม่รู้จบ จนก่อให้เกิดปัญหา
แก่ผู้คน สังคมและสิ่งแวดล้อมจนยากที่จะเยียวยารักษา ทำให้นักวิชาการ นักการศาสนา และนัก
ธุรกิจจำนวนหนึ่ง เห็นพ้องต้องกันว่า จำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการดำเนิน
ธุรกิจกระแสหลัก เพื่อให้ธุรกิจอำนวยประโยชน์และเกื้อกูลอารยธรรมมนุษย์ให้มากที่สุด แต่
ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างปัญหาน้อยที่สุดแก่สังคม พร้อมกับการสร้างความสุขแก่สถานที่ทำงาน
โดยพยายามเสนอให้นำคุณค่าทางศาสนาและจิตวิญญาณ เข้ามาเป็นรากฐานของกระบวนทัศน์ใน
การดำเนินธุรกิจ กระบวนทัศน์ทางเลือกใหม่นี้จึงเริ่มเป็นที่แพร่หลาย และได้รับความนิยมมากขึ้น
งานวิจัยฉบับนี้ มีจุดประสงค์เพื่อศึกษา จริยศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจของ
พระพุทธศาสนานิกายเถรวาท ผ่านการศึกษาและตีความคำสอนเกี่ยวกับการประกอบการงานที่
ถูกต้องดีงามเพื่อนำเสนอและสร้างองค์ความรู้ใหม่แก่จริยศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจของ
พระพุทธศาสนานิกายเถรวาท รวมทั้งเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจด้วยคุณธรรมตามหลักการของ
พระพุทธศาสนาสัมมาอาชีวะ หรือการดำเนินงานที่ปราศจากการเบียดเบียนใดๆ ทั้งทางกายและวาจา
อันเป็นหนึ่งในมรรคมีองค์ ๘ คือแนวทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงวางไว้ให้แก่ผู้ประกอบอาชีพการ
งานในพุทธกาล ผู้ที่มีวิถีชีวิตในโลกที่ยังเกี่ยวเนื่องกับการสร้างรายได้ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ คือความ
พยายามค้นหาความหมายใหม่ของหลักการสัมมาอาชีวะ ที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ในสังคมกสิ
กรรม ในบริบทร่วมสมัย เพื่อให้เข้ากับสังคมเทคโนโลยีในปัจจุบัน พร้อมกับการค้นหาแนวคิด
สำคัญทางพระพุทธศาสนา เพื่อพัฒนาเป็นพุทธกระบวนทัศน์ในการดำเนินธุรกิจ ให้เป็นแนวทาง
หลักแก่นักธุรกิจสมัยใหม่ในการดำเนินธุรกิจที่เกื้อกูลทุกชีวิตในสังคม ประกอบด้วย ๔
องค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญและจำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจในโลกยุคใหม่ ได้แก่ แกนมโนทัศน์
หรือระบบความเชื่อทางธุรกิจ จุดประสงค์ทางธุรกิจ หลักการดำเนินงาน และวัฒนธรรมองค์กร
คำตอบต่อข้อสงสัยที่ว่า การบูรณาการศาสนาและธุรกิจเข้าไว้ด้วยกันจะทำอย่างไร ที่นักวิชาการ
และนักธุรกิจทั่วโลกกำลังค้นหากันอยู่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการพัฒนาทฤษฎีสมัยใหม่ตามหลักการทาง
วิทยาศาสตร์ที่ยังไม่มีผู้ค้นพบ แต่อยู่ใกล้ตัวมนุษย์ ซึ่งหยั่งรากลึกอยู่ในภูมิปัญญาตะวันออก และอยู่
เคียงคู่อารยธรรมมนุษย์มาแสนนาน ที่เรียกว่า “พระพุทธศาสนา”
ท้ายที่สุด งานวิทยานิพนธ์ฉบับนี้จะยกตัวอย่างกรณีศึกษาของ ๓ องค์กร ที่ดำเนินธุรกิจ
ภายใต้หลักการสัมมาอาชีวะ อย่าง สันติอโศก เครือข่าย FWBO และอภัยภูเบศร นำธุรกิจให้
เจริญเติบโตไปพร้อมๆ กับการน้อมนำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นหลักในการบริหาร
ดำเนินงาน สามารถที่จะสร้างเอกภาพให้แก่ชีวิตของผู้ทำงาน และสร้างเอกภาพให้แก่สังคมโลก
ความสำเร็จของทั้งสามองค์กรแสดงให้เห็นว่า การดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดของพระพุทธศาสนา
ตามหลักการสัมมาอาชีวะเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้จริง และสะท้อนถึงความเป็นสากลของพุทธธรรม ที่
ครอบคลุมทุกสรรพสิ่ง ไม่ยกเว้นแม้แต่โลกธุรกิจ ทั้งๆ ที่แต่ละองค์กร มีความแตกต่างกันในแง่การ
ดำเนินธุรกิจ แต่มีความเหมือนกันที่แต่ละองค์กรมีการประยุกต์หลักคำสอนของพระพุทธศาสนา มา
ใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ วัฒนธรรม และสังคมของตน
ในวิถีเฉพาะตน องค์กรทั้งสามได้พิสูจน์ให้เห็นว่าหลักการสัมมาอาชีวะเป็นจริยธรรมทางธุรกิจที่
สร้างรายได้ และสร้างความเติบโตแก่องค์กรอย่างต่อเนื่องมั่นคง เป็นการสร้างธุรกิจอย่างยั่งยืน
พร้อมๆกับการสร้างประโยชน์แก่สังคม ตลอดจนเป็นการพัฒนาจิตใจ และเป็นมรรคาในการพัฒนา
ชีวิตของผู้ทำงานสู่จุดหมายสูงสุด ความสำเร็จขององค์กรทั้งสามแสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนา
และธุรกิจไม่ใช่อุดมการณ์ที่สวนทาง ไม่ใช่เส้นขนานที่ไม่บรรจบ แต่คือเส้นตรงเดียวกันที่ไม่
สามารถแยกขาดจากกันได้
Download : 255179.pdf

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕