บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาประสิทธิผลการบริหารศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ตามหลักอิทธิบาท ๔ สังกัดสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอำนาจเจริญ ๒) เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลการบริหารศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ตามหลักอิทธิบาท ๔ สังกัดสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอำนาจเจริญ จำแนกตาม ตำแหน่ง ระดับการศึกษา และประสบการณ์การทำงาน ๓) เพื่อศึกษาแนวทางข้อเสนอแนะประสิทธิผลการบริหารศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ตามหลักอิทธิบาท ๔ สังกัดสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอำนาจเจริญ
การวิจัยวิธีวิทยาการวิจัยแบบผสม (Mixed Methodology Research) เป็นการผสมผสานวิธีการระหว่างวิธีการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Methodology Research) ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) และวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Methodology Research) ด้วยการผสมในระดับข้อมูลเป็นการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลตามตัวแปรต้น ตัวแปรตามและกรอบแนวคิดด้วยวิธีการเชิงพรรณนา และนำไปสู่การวิจัยเชิงปริมาณด้วยวิธีการเชิงวิเคราะห์ประชากรกลุ่มตัวอย่างและการพรรณนา (Descriptive Analysis) และด้วยวิธีการทางสถิติ (Statistics Analysis) ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพ กำหนดผู้ให้ข้อมูลจำนวน ๑๕ รูป/คน โดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ในเขตจังหวัดอำนาจเจริญ แยกเป็นผู้อำนวยการศูนย์ จำนวน ๕ รูป/คน และครูผู้สอน จำนวน ๑๐ รูป/คน
ผลการวิจัยพบว่า
๑. ประสิทธิผลการบริหารศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ตามหลักอิทธิบาท ๔ สังกัดสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอำนาจเจริญ โดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง เรียงจากมากไปหาน้อยดังนี้ ประสิทธิผลการบริหารศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ตามหลักวิมังสา ประสิทธิผลการบริหารศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ตามหลักจิตตะ ประสิทธิผลการบริหารศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ตามหลักวิริยะ และประสิทธิผลการบริหารศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ตามหลักฉันทะ ตามลำดับ
๒. การเปรียบเทียบประสิทธิผลการบริหารศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ตามหลักอิทธิบาท ๔ จำแนกตาม ตำแหน่ง ระดับการศึกษา และประสบการณ์การทำงาน พบว่าผู้อำนวยการศูนย์และครูสอน มีความคิดเห็นแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ ๐.๘๓
๓. ข้อเสนอแนะและแนวทางในการส่งเสริมพัฒนาประสิทธิผลการบริหารศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ตามหลักอิทธิบาท ๔ ดังนี้ ๑) ประสิทธิผลการบริหารตามหลักฉันทะการนำหลักฉันทะมาบูรณาการในการบริหารงาน ซึ่งมีความจำเป็นและต้องสอดคล้องกับบริบทของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ พัฒนาบุคลากรให้มีใจรักในการทำงาน ส่งเสริมให้การจัดกระบวนการเรียนรู้ ๒) ประสิทธิผลการบริหารตามหลักวิริยะควรมีการส่งเสริมและจัดเตรียมครูผู้สอนให้มีความพร้อมในการทำหน้าที่อยู่เสมอ จัดให้มีการส่งเสริมความรู้ด้านวิชาการแก่ชุมชนมีความเหมาะสม และการส่งเสริมและประสานงานการจัดการศึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจัดค่าตอบแทนให้เหมาะสมกับครูผู้สอน อีกทั้งให้การสนับสนุนพัฒนาเครือข่ายข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหารศูนย์ ๓) ประสิทธิผลการบริหารตามหลักจิตตะ ต้องมีความเอาใจใส่ในการบริหารจัดการตามบทบาทและภาระหน้าที่ของตนอย่างเต็มความสามารถ มีจิตอาสาในการทำงานพร้อมที่จะนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จ ร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจของศูนย์มุ่งสู่การเป็นชุมชนแห่งเรียนรู้ ๔) ประสิทธิผลการบริหารตามหลักวิมังสา ผู้อำนวยการศูนย์จำเป็นต้องใช้ปัญญาไตร่ตรอง สอดส่อง ในหน้าที่ความรับผิดชอบ พิจารณาใคร่ครวญอย่างละเอียดรอบคอบในการดำเนินงาน มีการจัดบุคลากรให้เหมาะสมกับความรู้ความสามารถ
ดาวน์โหลด
|