บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา เปรียบเทียบ และแนวทางการบริหารสถานศึกษาตามหลักโยนิโสมนสิการ ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต ๑ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน ๑๘๒ คน และครูผู้สอน จำนวน ๓๑๗ คน รวมทั้งสิ้น จำนวน ๕๐๑ คน และกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน ๙ คนและครูผู้สอน จำนวน ๑๒ คน รวมจำนวน ๒๑ คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย,ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน,การทดสอบสมมุติฐานด้วยการทดสอบค่าที,(t–test,แบบ Independent Samples) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (F – test แบบ One-way ANOVA) และทดสอบความแตกต่างเป็นรายคู่ด้วยวิธีการของเชฟเฟ่ (Scheffe’) และวิเคราะห์เชิงพรรณนา (Descriptive Analysis)
ผลการวิจัย พบว่า
การบริหารสถานศึกษาตามหลักโยนิโสมนสิการในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยภาพรวม มีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน มีการปฏิบัติอยู่ในระดับมากทุกด้าน โดยด้านที่มีการปฏิบัติสูงสุด คือ ด้านการบริหารวิธีคิดแบบวิภัชชวาท รองลงมาคือ ด้านการบริหารวิธีคิดแบบเห็นคุณโทษและทางออก และด้านการบริหารวิธีคิดแบบเร้าคุณธรรมตามลำดับ ส่วนด้านที่มีการปฏิบัติต่ำสุด คือ ด้านการบริหารด้วยวิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย
ผลการเปรียบเทียบการบริหารสถานศึกษาตามหลักโยนิโสมนสิการ ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต ๑ จำแนกตามตำแหน่ง โดยภาพรวม มีการปฏิบัติแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑ โดยผู้บริหารมีการปฏิบัติสูงกว่าครูผู้สอน และจำแนกตามประสบการณ์ในการทำงาน โดยภาพรวมมีการปฏิบัติแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑
แนวทางในการส่งเสริมการบริหารสถานศึกษาตามหลักโยนิโสมนสิการ ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต ๑ โดยรวมมีวิธีการคิดแบบโยนิโสมนสิการ พบว่า สถานศึกษาควรมุ่งเน้นเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรของสถานศึกษา ครู และผู้บริหารทุกคนควรมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอน และสถานศึกษาควรจัดทำสาระท้องถิ่น ที่มีข้อมูลและเนื้อหาที่สำคัญในจังหวัดขอนแก่น ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และธำรงไว้อันดีงานผู้บริหารควรส่งเสริมให้ครูสอนรายวิชาที่ถนัดและชำนาญมากที่สุด ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาจุดบกพร่องทางการเรียนของผู้เรียน และควรจัดให้มีโครงการเป็นประจำทุกปี เพื่อพัฒนาสื่อการเรียนการสอน การทดลองนำไปใช้ และการประเมินการใช้สื่อ เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพสื่อการเรียนการสอน และควรมีนโยบายในการส่งเสริมครูผู้สอนในการใช้สื่อประการเรียนการสอนที่เหมาะสม
ดาวน์โหลด |