บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาการประยุกต์หลักอิทธิบาท ๔ ในการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ๒) เพื่อเปรียบเทียบการประยุกต์หลักอิทธิบาท ๔ ในการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และ ๓) เพื่อศึกษาแนวทางส่งเสริมการประยุกต์หลักอิทธิบาท ๔ ในการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสม กลุ่มตัวอย่างการวิจัยเชิงปริมาณ ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอนในสถานศึกษา จำนวน ๓๒๖ คน โดยกำหนดกลุ่มตัวอย่างตามตารางเครซซี่และมอร์แกนและสุ่มแบบแบ่งชั้น เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบสอบถาม มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ .๙๗ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป สถิติที่ใช้ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน t–test F-test และทดสอบความแตกต่างรายคู่ด้วยวิธีการของเซฟเฟ่ (Scheffe’ method) กลุ่มเป้าหมายการวิจัยเชิงคุณภาพ ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอนในสถานศึกษา จำนวน ๑๘ คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบสัมภาษณ์ และวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัย พบว่า :
๑. การประยุกต์หลักอิทธิบาท ๔ ในการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๒๕ ซึ่งภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก โดยด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านการบริหารงานทั่วไป รองลงมา คือ ด้านการบริหารงานงบประมาณ ด้านการบริหารงานวิชาการ และด้านการบริหารงานบุคคลตามลำดับ
๒. เปรียบเทียบการประยุกต์หลักอิทธิบาท ๔ ในการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๒๕ จำแนกตามตำแหน่งหน้าที่และระดับการศึกษา พบว่า ไม่แตกต่างกัน ในขณะที่จำแนกตามประสบการณ์ในการทำงานแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
๓. แนวทางในการส่งเสริมการประยุกต์หลักอิทธิบาท ๔ ในการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๒๕ ที่สำคัญ คือ ๑) ควรมีการกำหนดเป้าหมายคุณภาพนักเรียน แผนงาน วิธีการดำเนินงานที่ชัดเจน ๒) ควรมีการพิจารณาไตร่ตรองในการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและก่อประโยชน์สูงสุด ๓) ควรพิจารณาความสามารถของบุคลากร และมอบหมายงานตามความถนัด และ ๔) ควรมีความพอใจขยันหมั่นเพียรในหน้าที่ความรับผิดชอบ
ดาวน์โหลด
|