บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาการบริหารสถานศึกษาตามหลักพรหมวิหาร ๔ ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต ๑ ๒) เพื่อเปรียบเทียบการบริหารสถานศึกษาตามหลักพรหมวิหาร ๔ ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต ๑ จำแนกตามตำแหน่งหน้าที่ วุฒิการศึกษา และประสบการณ์ทำงาน และ ๓) เพื่อศึกษาแนวทางส่งเสริมและพัฒนาการบริหารสถานศึกษาตามหลักพรหมวิหาร ๔ ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต ๑การวิจัยวิธีวิทยาแบบผสม ๑) การวิจัยเชิงปริมาณ กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน การบริหารสถานศึกษาตามหลักพรหมวิหาร ๔ ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต ๑ จำนวน ๔๑๓ คน สุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น ได้กลุ่มตัวอย่างในแต่ละกลุ่มโดยการสุ่มอย่างง่ายด้วยวิธีจับสลาก เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบสอบถาม มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ .๙๔ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติเพื่อการวิจัย สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และด้วยการทดสอบค่าที (t–test แบบ Independent sample) ใช้ทดสอบความแปรปรวนทางเดียว (F-test แบบ One-way ANOVA) และทดสอบความแตกต่างรายคู่ด้วยวิธีการของเซฟเฟ่ (Scheffe’ method) ๒) การวิจัยเชิงปริมาณ กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน ๖ คน และครูผู้สอน จำนวน ๖ คน รวมทั้งสิ้น จำนวน ๑๒ คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบสัมภาษณ์ และใช้การวิเคราะห์เชิงเนื้อหาและหาข้อสรุป
ผลการวิจัย พบว่า :
๑. การบริหารสถานศึกษาตามหลักพรหมวิหาร ๔ ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า โดย
ภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก และเมื่อจำแนกเป็นรายด้าน พบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านการบริหารงานทั่วไปตามหลักพรหมวิหาร ๔ รองลงมา คือ ด้านการบริหารงานบุคคลตามหลักพรหมวิหาร ๔ และด้านการบริหารงานวิชาการตามหลักพรหมวิหาร ๔ ตามลำดับ ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ด้านการบริหารงานงบประมาณตามหลักพรหมวิหาร ๔
๒. การเปรียบเทียบการบริหารสถานศึกษาตามหลักพรหมวิหาร ๔ ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำแนกตามตำแหน่งหน้าที่ พบว่า ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน มีความคิดเห็นไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนจำแนกตามวุฒิการศึกษา พบว่าผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน มีความคิดเห็นแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕ และจำแนกตามประสบการณ์ในการทำงาน พบว่า ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน มีความคิดเห็นไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
๓. แนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาการบริหารสถานศึกษาตามหลักพรหมวิหาร ๔ ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังนี้ ๑) ด้านการบริหารงานวิชาการตามหลักพรหมวิหาร ๔ ควรมีการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นให้เหมาะสม สอดคล้องกับชุมชน ด้วยความรักและปรารถนาดี การวางแผนงานด้านวิชาการ เพื่อพัฒนานักเรียนให้มีความรู้คู่คุณธรรม มีการพิจารณาครูเข้าสอน ตามความรู้ ความสามารถ ไม่ลำเอียง การปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรให้เหมาะสม สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน ให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์สูงสุด ๒) ด้านการบริหารงานบุคคลตามหลักพรหมวิหาร ๔ ควรมีการจัดทำแผนงบประมาณโดยมุ่งประโยชน์ของสถานศึกษาและผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้บุคลากรมีส่วนร่วมในการจัดทำคำของบประมาณสอดคล้องกับปัญหาและการพัฒนาจัดทำแผนการใช้งบประมาณโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน ๓) ด้านการบริหารงานงบประมาณตามหลักพรหมวิหาร ๔ ควรมีการวางแผนอัตรากำลังในสถานศึกษาอย่างเหมาะสมและเพียงพอกับภาระงาน โดยใช้ระบบคุณธรรม ผู้บริหารมีการพิจารณาเกี่ยวกับการเลื่อนเงินเดือนตามความรู้ความสามารถโดยเที่ยงธรรม ๔) ด้านการบริหารงานทั่วไปตามหลักพรหมวิหาร ๔ ควรมีการจัดระบบและสารสนเทศภายในสถานศึกษา และการประสานงานและพัฒนาเครือข่ายการศึกษาทั้งภายในองค์กรและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยการวางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาหรือแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ชัดเจน
ดาวน์โหลด
|